ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community: AEC) เพื่อรองรับการเป็นประชาคมดังกล่าว รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะจัดตั้ง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ในจังหวัดต่างๆ ตามแนวชายแดน
ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้นจะเห็นได้ว่าการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะสร้างฐานการพัฒนาด้านเศรษฐกิจนั้น ใช้หลักการของเรื่องเขตพรมแดนในการกำหนดพื้นที่ โดยพื้นที่ที่จะถูกจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะอยู่ติดกับชายแดนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจนั่นเอง
กรณีจังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบให้จังหวัดมุกดาหารเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม โดยหลักการสำคัญคือการประกาศขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจมุกดาหาร 3 อำเภอ 11 ตำบล เนื้อที่ 361,524 ไร่ หรือ 578.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งครอบคลุม อำเภอเมืองมุกดาหาร 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลศรีบุญเรือง ตำบลมุกดาหาร ตำบลบางไทรใหญ่ ตำบลคำอาฮวน ตำบลนาสีนวน อำเภอดอลตาล 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอนตาล และตำบลโพธ์ไทร และอำเภอหว้านใหญ่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลหว้านใหญ่ ตำบลป่งขาม ตำบลบางทรายน้อย ตำบลชะโนด
พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร ประกอบด้วยพื้นที่สาธารณะ 11,023 ไร่ พื้นที่ราชพัสดุ 11,422 ไร่ พื้นที่ ส.ป.ก. 33,950 ไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติและป่าสงวนฯ 50,350 ไร่ พื้นที่เขตนิคมสหกรณ์ 28,170 ไร่ และพื้นที่เอกสารสิทธิ์ 226,609 ไร่ โดยการลงทุนในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารถูกแบ่งออกเป็น 5 ประเภทกิจการคือ 1.อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง 2.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 3.กิจการโลจิสติกส์ 4.นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม 5.กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว นักลงทุนที่ลงทุนในแขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่องของภาษี ที่จะทำให้เป็น FREE ZONE หรือลดหย่อนภาษีบางอย่างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนที่สนใจ โดยเฉพาะนักลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ที่สนใจพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร
ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า รัฐกำลังเดินหน้าอย่างเด็มที่เพื่อกำหนดผังเมืองใหม่ในหลายจังหวัด เพื่อรองรับแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ และการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่ภาพที่ยังเห็นได้ไม่ชัดก็คือ ภาพรวมความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
จากการลงสำรวจพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ตัวแทนรัฐให้ข้อมูลอ้างว่า เมื่อเกิดเชตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ประชาชนในพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์ตามมา ตามแนวคิดTrickle-down effectคือ ถ้าสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะมีงานทำ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าไปอยู่ในเมือง เมื่อเศรษฐกิจเติบโตแล้ว เงินก็จะหลั่งไหลไปสู่ประชาชน แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ในจังหวัดมุกดหารแล้ว ก็น่าเป็นกังวล เพราะมีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ที่คิดตรรกกะเช่นนี้ และยังมีช่องว่างที่ห่างกันมากระหว่างรัฐ กลุ่มนักลงทุน และประชาชนในพื้นที่
พื้นที่ 361,542 ไร่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหารนั้น พบว่ามีพื้นที่ถึง 226,609 ไร่ ที่เป็นพื้นที่เอกสารสิทธิ์ หรือมีประชาชนใช้ประโยชน์อยู่ และเมื่อลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น ก็พบว่ายังไม่ได้มีการสร้างความเข้าใจและสอบถามความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ต่อการกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่อย่างใด จีงน่าเป็นห่วงว่า การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยวิธีการที่จู่โจมเช่นนี้ อาจรุกล้ำ หรือละเมิดต่อสิทธิความมั่นคงในชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น สิทธิความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะอาด
การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร โดยเฉพาะพื้นที่เตรียมการเป็นนิคมอุตสาหกรรม ยังไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แต่อย่างใด จากการสอบถาม พบว่าที่ไม่ได้มีการทำ EIA เพราะเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าไม่มีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งไม่ได้ต่อต้านแนวทางการพัฒนาของรัฐ แต่มีความเห็นว่า รัฐควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจวางแผนการจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะเข้ามาในพื้นที่บ้านเกิดของพวกเขาด้วยและมีข้อเสนอที่มีเหตุผลและน่าสนใจว่า ก่อนที่จะจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคประชาชนเสนอให้ 1.รัฐต้องสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชน โดยเปิดเผยข้อมูลให้เป็นสาธารณะและให้เห็นรายละเอียดของโครงการต่างๆโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2.เมื่อประชาชนรับรู้รายละเอียดของแผนฯดังกล่าว ก็ต้องอธิบายให้เห็นถึงผลดีและผลเสียของแต่ละโครงการอย่างชัดแจ้ง และ3. ควรจัดทำเวทีเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษด้วย เพื่อระดมความคิดเห็นและทำความเข้าใจร่วมกัน
ส่วนข้อสุดท้ายที่สำคัญก็คือ รัฐควรให้ความสำคัญ และฟังเสียงความต้องการของคนในพื้นที่ด้วย โดยไม่ควรมองว่าประชาชนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐเสมอไป
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 27 พฤศจิกายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.