ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่ครัวเรือนชาวนาต้องเผชิญอยู่มากมายหลายประการ ทั้งปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาต้นทุนการการผลิต ปัญหาภาระหนี้สิน ในขณะเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเชิงภาพรวม
ชาวนาทั้งถูกส่งเสริมและกดดันจากภาครัฐให้งดเว้นการทำนา และหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ในขณะที่ยังไม่มีหลักประกันหรือมาตรการชดเชยด้านรายได้ให้กับชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวนาและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ออกมาอีกครั้งหนึ่ง ที่เรียกว่า "จำนำยุ้งฉาง" โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะข้าวเปลือกในเขตภาคเหนือ ภาคอีสาน และต้องเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวเท่านั้น ภายใต้โควต้าข้าวทั้งหมดประมาณ 2 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 26,740 ล้านบาท
โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี หรือ "จำนำยุ้งฉาง" เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่รัฐบาลคสช. เลือกนำมาใช้ทดแทนการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลชุดก่อน โครงการนี้ถือเป็นโครงการต่อเนื่องปีที่สอง รายละเอียดโครงการในปี 2558 คือ รัฐบาลจะจ่ายเงินให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง โดยให้ราคาสินเชื่อข้าวเปลือกหอมมะลิสูงสุดไม่เกินตันละ 13,500 บาท (ร้อยละ 90 ของราคาตลาด ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว) บวกกับค่าเก็บรักษาข้าว หรือค่าเช่ายุ้งฉาง อีก 1,000 บาท รวมเป็น 14,500 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียวไม่เกินตันละ 11,300 บาท (ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว) บวกกับค่าเก็บรักษา หรือค่าเช่ายุ้งฉาง อีก 1,000 บาท รวมเป็น 12,300 บาทต่อตัน
ซึ่งหากเปรียบเทียบสัดส่วนด้านปริมาณและราคาของโครงการ "จำนำยุ้งฉาง" ระหว่างรอบปี 2557 กับรอบปี 2558 จะพบว่ารัฐบาลยังกำหนดสัดส่วนปริมาณข้าวไว้เท่าเดิม คือ 2 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวนาปีทั้งหมด 7 ล้านตันที่ออกสู่ตลาด นั่นหมายความว่าจะมีปริมาณข้าวของชาวนาอีก 5 ล้านตัน หรือร้อยละ 70 ที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือเหล่านี้ ซึ่งชาวนาที่สามารถเข้าร่วมได้ต้องเป็นชาวนาภาคเหนือและภาคอีสาน ที่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง หากไม่มียุ้งฉางอาจเข้าร่วมโครงการผ่านมาตรการอื่น คือ ให้สถาบันเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรเพื่อเก็บรวบรวมข้าวไว้ให้ แต่ชาวนาภาคอื่น ๆ เช่น ชาวนาภาคกลาง ซึ่งปลูกข้าวขาว หรือชาวนาภาคใต้ ซึ่งปลูกข้าวพันธุ์อื่นก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการนี้แต่อย่างใด
ในขณะที่หากประเมินเฉพาะราคารับจำนำ(ยุ้งฉาง)ข้าวเปลือกหอมมะลิ ในรอบที่ผ่านมากับรอบปัจจุบัน พบว่าราคาข้าวลดลงจากที่ชาวนาเคยได้ 15,400 บาทต่อตัน(รวมค่าเช่ายุ้งฉาง) เหลือ 14,500 บาทต่อตัน ลดลงเหลือตันละ 900 บาท คิดเป็นร้อยละ 6 จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 3-4 เดือน ราคาข้าวจะขยับขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9 ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิใหม่(ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15) ณ วันที่ 4 พ.ย. 2558 ราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิใหม่ในเขตภาคอีสานเฉลี่ยประมาณ 13,000 บาทต่อตัน (ที่มา: สมาคมโรงสีข้าวไทย)
ดังนั้นคาดการณ์ว่าในอีก 4 เดือนข้างหน้า ราคาข้าวหอมมะลิอาจจะขยับขึ้นไปอีกประมาณ 1,200 บาท เป็น 14,200 บาทต่อตัน รวมค่าเช่ายุ้งฉางอีก 1,000 บาท รวมเป็น 15,200 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าเล็กน้อย 700 บาท ดังนั้นคงมีชาวนาที่เข้าร่วมโครงการครั้งนีได้กำไรส่วนต่างบ้างเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามจากรายงานสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี "จำนำยุ้งฉาง" ของ ธ.ก.ส. ปีการผลิต 2557/58 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2558) พบว่า มีชาวนาสนใจเข้าร่วมโครงการค่อนข้างน้อย โดยมีชาวนาเข้าร่วมโครงการเพียง 79,397 ราย วงเงินสินเชื่อ 6,388 ล้านบาท มีปริมาณข้าวที่จำนำเพียง 4.5 แสนตัน ต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมาย 2 ล้านตัน ร้อยละ 78 ทั้งนี้เนื่องจากราคาข้าวในตลาดปรับตัวสูงขึ้นชาวนาจึงเลือกที่จะขายข้าวในตลาดปกติ ประกอบกับปัจจุบันชาวนามีการเก็บเกี่ยวข้าวสดส่งขายให้โรงสีไม่ต้องตากข้าว ในขณะที่โครงการจำนำยุ้งฉางกับกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ มีความยุ่งยากต้องเก็บโดยใช้กระสอบป่านเพื่อป้องกันข้าวเสื่อมซึ่งเป็นวิธีการที่ยุ่งยากชาวนาจึงเข้าร่วมโครงการน้อย
จะเห็นได้ว่า มาตรการ "จำนำยุ้งฉาง" เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีรอบใหม่ของรัฐบาลคสช.ที่ออกมาครั้งนี้ อาจจะมีผลดีต่อชาวนาอยู่บางส่วนในลักษณะเพียงแค่บรรเทาทุกข์ (ไม่ได้คืนความสุข) นั่นคือ ชาวนาได้รับสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยระยะ 4 เดือนแรก สามารถช่วยยืดระยะเวลาให้มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น หลังชำระหนี้สินแล้ว และอาจมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าเช่ายุ้งฉาง
อย่างไรก็ตามอาจไม่ใช่มาตรการที่ประชา(ชาวนา)นิยมมากนัก นั่นคือ มีชาวนาเข้าร่วมน้อยเหมือนเดิม เพราะไม่ได้เพิ่มแรงจูงใจด้านราคาเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ชาวนาสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้น ประกอบกับวิถีชาวนาในปัจจุบันไม่ได้มียุ้งฉางไว้เก็บข้าวเปลือกอีกแล้ว แม้แต่ชาวนาภาคเหนือและภาคอีสานก็มียุ้งฉางลดน้อยลง นอกจากนี้อาจต้องประเมินว่ามีชาวนาที่เกิดภาระหนี้สินและกู้หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นหรือไม่จากการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อลักษณะนี้
ตราบใดที่ข้าวยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ มีความอ่อนไหว และมีผลกระทบต่อชาวนาและประชาชนฐานรากของประเทศจำนวนมาก ในขณะที่ยังไม่เกิดผลสำเร็จของการปฏิรูปโครงสร้างการผลิต กลไกราคาและการตลาดที่เป็นธรรมต่อชาวนา มาตรการระยะสั้นของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น จำนำ ประกัน ชดเชย ประชานิยม ฯลฯ ก็ยังคงเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นและคงไม่อาจหนีหายไปจากสังคมไทย อย่างไรก็ตามควรจะต้องควบคู่ไปกับมาตรการระยะกลางและระยะยาวที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้นความเข้มแข็งของชาวนาอย่างยั่งยืน เพื่อสังคมไทยที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเสมอหน้า
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 13 พฤศจิกายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.