แล้วก็ถึงเวลาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องตอบคำถามกับสังคมว่าเหตุใดจึงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า และเป็นที่มาของปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาหมอกควันและการเสื่อมโทรมของผืนดิน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคม น่าแปลกที่ วาทกรรม "ภูเขาหัวโล้น" ในจังหวัดน่าน ได้ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลายเป็นจำเลยของสังคมภายในเวลาชั่วข้ามคืน ทั้งๆ ที่เกษตรกรเหล่านี้ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานานแล้ว ที่สำคัญคือไม่ได้ริเริ่มปลูกเอง แต่ทำตามนโยบายการส่งเสริม และการสร้างแรงจูงใจของภาครัฐ ที่ตอบสนองต่อความเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจเนื้อสัตว์ในประเทศและภูมิภาคนี้นั่นเอง
จะว่าไปแล้ว กระแสการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่เรียกกันว่ากระแส boom crops ซึ่งพืชเศรษฐกิจทุกชนิด รวมทั้งพืชพลังงานได้แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่เกษตรไปทั่วโลก เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเนื้อสัตว์ และการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง จนเป็นที่หวั่นวิตกของนักสิ่งแวดล้อม และนักวิเคราะห์แนวโน้มการใช้ที่ดินระดับโลก เฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว ทั่วโลกก็มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 1,064.988 ล้านไร่ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่ง
โดยภาพรวม การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เกิดขึ้นช่วงหลังปี 2552 สัมพันธ์กับความต้องการสินค้าของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างแยกไม่ออก เช่น อุตสาหกรรมสัตว์ปีก (เป็ดและไก่) หมู วัว และกุ้ง ในทุกภูมิภาคที่ขยายตัวมากขึ้น รวมถึงความสามารถของภาคธุรกิจเอกชนในการส่งออก หรือขนส่งสินค้าในจำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางใหม่ในเขตเมือง เช่น ประเทศจีน ประเทศไทย ฮ่องกงและเมืองใหญ่ในทุกภูมิภาค
ส่วนประเทศไทย ซึ่งแน่นอนรัฐบาลมีนโยบายเดินตามกระแสเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศ 7.51 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นมาโดยลำดับ ในพื้นที่จำนวนนี้ พบว่าเกษตรกรปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรืออยู่ในพื้นที่ป่าถึง 3.7 ล้านไร่ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศเลยด้วยซ้ำ
จากงานวิจัยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน พบว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย หลายสิบปีที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนถือว่ามีความสำคัญ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ซึ่งรวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครอบคลุมทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และพื้นที่นอกเหนือเอกสารสิทธิ์ ปรากฏการณ์ที่เกษตรกรจำนวนมากปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ปาสงวนแห่งชาติที่หมดสภาพความเป็นป่าแล้ว จึงถือเป็นที่รับรู้กันอยู่ ในหน่วยงานราชการทั้งระดับท้องถิ่นและระดับนโยบาย
เหตุที่ถือว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะพืชเศรษฐกิจตัวนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยถึง 3.9 แสนครอบครัว และยังรวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ อีกกว่า 3 แสนครอบครัว (กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์, 2555) เกษตรกรเหล่านี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดคือเพชรบูรณ์ รองลงมาคือน่าน นครราชสีมา และเลย (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556)
ส่วนอีกเหตุผล เพราะว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือวัตถุดิบสำหรับป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศไทย โดยปี 2557 มีผลผลิตข้าวโพดทั้งประเทศ 5.09 ล้านตัน ร้อยละ 97 ของผลผลิตทั้งหมดนี้ ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เหลือเพียงส่วนที่เหลือเล็กน้อยเท่านั้น ที่นำมาสกัดเป็นส่วนผสมอาหารของคน หรือดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำตาล น้ำเชื่อม และแอลกอฮอล์ ฯลฯ แม้เกษตรกรจะพยายามเพิ่มพื้นที่ปลูก ตามการส่งเสริมและการสร้างแรงจูงใจของภาครัฐ แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากเท่าปริมาณความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่มีมากถึง 5.77 ล้านตัน ในปี 2557 น่าจะเป็นเหตุผลที่พอฟังได้ว่า เพราะเหตุใดการขยายพื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าเท่าที่ปลูกได้ในปัจจุบันนั้น ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ที่ผ่านมาภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน สนับสนุนการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรทั่วประเทศมาโดยตลอด ทั้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร ประกันราคาผลผลิต รับจำนำผลผลิต และมีนโยบายให้ธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนองนโยบายรัฐบาลและสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน ด้วยการปล่อยสินเชื่อ ให้เงินกู้กับเกษตรกรที่ต้องการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นี่เป็นที่มา ที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ มีหนี้สินกับ ธ.ก.ส. และเป็นเหตุผลสำคัญที่เกษตรกรเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ เหตุเพราะปลูกแล้วขาดทุน กำไรน้อย แต่เลิกไม่ได้ เพราะไม่มีเงินไปใช้หนี้
น่าเสียดายที่หนังเรื่อง "ภูเขาหัวโล้น" ถูกสร้างให้มีเพียงเกษตรกรเท่านั้นที่เป็นจำเลยของสังคม ทั้งที่ยังมีตัวละครเด็ดๆ ที่สำคัญอีกหลายตัว ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งธุรกิจเนื้อสัตว์ และธุรกิจอาหารสัตว์ที่เติบโตจนครบวงจร ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ยันการชำแหละและส่งออก
หากภาครัฐคิดว่าไม่สามารถรับผิดชอบและดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อันเป็นผลพวงมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ก็อาจจะต้องค้นหาแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับปัญหาให้ถ่องแท้เสียก่อน ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีจำเลยเพียงฝ่ายเดียว ถ้าศึกษาให้ดีก็อาจจะพบด้วยว่า คนที่ถูกเรียกว่าจำเลยนั้น แท้ที่จริงอาจจะเป็นเพียงเหยื่อ ที่ถูกสร้างขึ้นจากละครโรงใหญ่ก็เป็นได้
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 30 ตุลาคม 2558
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.