ประเด็นเรื่องหนี้สินนั้นเป็นปัญหาที่มีให้เห็นในทุกระดับชั้นทางสังคมไม่ว่าจะกลุ่มคนรวย กลุ่มคนชั้นกลาง หรือกลุ่มคนจน ต่างก็มีโอกาสที่จะประสบปัญหาหนี้สินแทบทั้งสิ้น แต่ในกลุ่มอาชีพเกษตรกรที่ยังทำเกษตรกรรมเป็นรายได้หลัก ไม่ว่าจะเป็น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ หรือผู้เลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือกลุ่มอาชีพที่อยู่กับปัญหาหนี้สิน และภาวะไร้โอกาสอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งจากลักษณะการประกอบอาชีพที่ต้องลงทุนลงแรงก่อน เพื่อรอดอกผลในอนาคตข้างหน้า และระหว่างรอเก็บเกี่ยวดอกผลนั้น ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ อาทิเช่น ภัยธรรมชาติ ราคาตลาดที่ขึ้นลง ภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ฯลฯ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแทบทั้งสิ้น
จากปัญหาหนี้สินที่เกษตรกรแบกรับ ในงานศึกษาหนี้นอกระบบและการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรของโลโคลแอคที่ผ่านมาพบว่า หนี้นอกระบบไม่ได้เกิดจากตัวเกษตรกรที่ใช้จ่ายเกินตัวหรือเป็นเรื่องของความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ภายใต้การตัดสินใจของเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่โครงสร้างภาคเกษตรกรรมในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกษตรกรที่อยู่ภายใต้โครงสร้างนี้ โดยเฉพาะการผลิตการเกษตรที่พึ่งพาตลาด เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง และต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตสูง คือความเสี่ยงที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินจำนวนมาก และพบว่าหนี้สินจากการเกษตรเหล่านี้ ไม่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตหรือครอบครัวเกษตรกรให้ดีขึ้น แต่กลับทำให้ปัญหาต่างๆในครัวเรือนเกษตรกรพอกพูน ซับซ้อนและแก้ไขยากยิ่งขึ้น
งานศึกษาพบว่าความซับซ้อนของปัญหาหนี้สิน ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องหลายประการกับเกษตรกร อาทิเช่น การสูญเสียที่ดิน การถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ กระทบต่อสุขภาพจิต สูญเสียรายได้ มีปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว จนไปถึงไม่สามารถพึ่งพาอาชีพเกษตรได้อีกต่อไป
ดังที่พบจากการศึกษาว่า แม้อาชีพเกษตรกรรมในอดีตเคยพึ่งพิงตนเองและสร้างรายได้หลักเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างพอเพียง แต่ปัจจุบันครอบครัวเกษตรกรจะมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพหลายอย่าง และวิถีชีวิตของเกษตรกรก็ไม่ได้ผูกติดกับที่ดินตลอดเวลา ดั่งเช่นความเป็นชนบทในอดีต ทั้งนี้ พบว่าเกษตรกรหลายราย ต้องดิ้นรนออกไปหารายได้จากอาชีพอื่นๆ เช่น ค้าขาย ทำงานโรงงาน รับจ้างทั่วไป ขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ หรือกู้เงินไปเป็นแรงงานต่างประเทศ นั่นเพราะอาชีพเกษตรเพียงอย่างเดียว ภายใต้โครงสร้างการเกษตรที่เน้นการพึ่งพาตลาดที่เป็นอยู่ ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวเกษตรกรได้อีกต่อไป
หากมองในภาพใหญ่ ทิศทางการพัฒนาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2504 ที่กำหนดให้คนชนบทและภาคเกษตรกรรมเป็นฐานแรงงาน เพื่อสร้างเมืองและอุตสาหกรรมให้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และให้ชนบทเป็นฐานการผลิตอาหารของคนส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและส่งออกตลาดโลก เมื่อเวลาผ่านไป ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและเติบโตไปมากแล้ว แต่ภาคชนบทและภาคเกษตรกรรม กลับอยู่ในสภาพเดิม คือไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินชีวิต หรือเพิ่มมูลค่าการผลิตในระบบตลาดที่รัฐหรือภาคธุรกิจเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศได้อย่างชัดเจน
ขณะที่วิถีการผลิตของเกษตรกรที่เคยพึ่งพาตนเองในอดีต ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในครัวเรือนของเกษตรกร ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ที่เป็นเกษตรกรหรือลูกหลานเกษตรกรในปัจจุบัน ต่างมีเป้าหมายชีวิตที่ไม่แตกต่างจากคนกลุ่มอาชีพอื่นๆในสังคม คือต้องการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต หรือมีศักดิ์ศรีที่ทัดเทียมกับกลุ่มชนชั้นกลาง และอาชีพอื่นๆ ผ่านระบบบริโภคนิยม ที่สังคมสมัยใหม่ให้ค่าและส่งเสริม ซึ่งพวกเขาสามารถเข้าถึงความเท่าเทียมทางโอกาสเหล่านี้ได้ ถ้าพวกเขามีเงิน นี่เป็นอีกเหตุผล ที่ทำให้ลูกหลานเกษตรกรต้องกลายเป็นแรงงานภายใต้ระบบตลาด
ประเด็นคือภาครัฐ ให้ความสนใจกับปัญหานี้ ในฐานะที่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมหรือไม่
ยกตัวอย่างกรณีเกษตรกรถูกฟ้องคดี กฎหมายของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคดี ยึดทรัพย์ ฟ้องล้มละลาย ไม่ได้มีการออกแบบเพื่อที่จะช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่มีความเสี่ยงในการถูกฟ้องและยึดทรัพย์สินและที่ทำกิน เช่น หากเกษตรกรถูกฟ้องร้องจนถูกศาลสั่งเป็นคนล้มละลาย เกษตรกรคนนั้นจะถูกสืบทรัพย์ ยึดบ้านและที่ทำกินทั้งหมด จนไม่เหลืออะไรเลยที่จะดำรงชีพต่อไปได้ ทรัพย์จะถูกยึดตามมูลหนี้คำพิพากษา แต่ในทางกลับกัน หากบุคคลที่ถูกฟ้องนั้นเป็นข้าราชการ กฎหมายของประเทศได้มีการออกแบบที่จะช่วยเหลือคือให้ยึดทรัพย์ แต่ให้เหลือเงินเดือนไว้เลี้ยงชีพได้
ในกรณีเช่นนี้ รัฐก็สามารถออกแบบกฎหมายให้ช่วยเหลือเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตอาหารเลี้ยงสังคม หากมีกรณีฟ้องร้องและมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ก็ควรเหลือที่ทำกินบางส่วนไว้ให้เกษตรกรเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตและเลี้ยงชีพได้
การกล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่จะเป็นการยกให้เกษตรกร เป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือเกินกว่าอาชีพอื่นแต่อย่างใด เพราะในทุกสังคม และทุกอาชีพ ย่อมประกอบไปด้วยคนดีและไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแบบที่เราทุกคนหรือแม้แต่ภาครัฐก็เห็นกันอยู่ ว่าอาชีพเกษตรกร ไม่ว่าจะขยันหรือขี้เกียจ ดีหรือไม่ดี ปัจจุบันนี้ก็ล้วนมีชะตากรรมไม่ต่างกันมากนัก เกษตรกรกลายเป็นอาชีพที่ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ จึงไม่แปลกที่เกษตรกรปัจจุบันไม่อยากให้ลูกหลานกลับมามีอาชีพเกษตรกร และลำบากเหมือนรุ่นของตนเองอีกต่อไป ความเหลื่อมล้ำมันฝังรากลึก จนเกษตรกรหลายคนไม่มีความหวังแล้วก็เป็นได้
นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเกษตรกรรม ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างบ้านเรา
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 6 พฤศจิกายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.