การประกาศกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในเวทีจุดประกาย "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ อิมแพค เมืองทองธานี ด้วยการประกาศให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก นับว่าเป็นมิติใหม่ ที่น่าสนใจและน่าติดตามกระบวนการทำงานด้านนี้ของรัฐบาลในระยะต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจฐานรากของสังคมไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนในชนบทจำนวนมาก ยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจจากภาคเกษตร ประมง ทรัพยากรธรรมชาติ และการทำมาหากินในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปและขายสินค้าเกษตร การทำธุรกิจขนาดเล็ก หรือการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
น่าเสียดายในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรมหภาค เป็นไปในทิศทางที่มุ่งผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับรายได้ที่เป็นตัวเงิน เปลี่ยนวิถีและรูปแบบเกษตรไปสู่การผลิตเพื่อการค้าและการลงทุน แต่เป็นระบบการค้าและการลงทุนที่เกษตรกรรายย่อยพ่ายแพ้อย่างราบคาบ เพราะต้นทุนการผลิตสูง แต่เกษตรกรกลับไม่ใช่เจ้าของผลผลิตที่แท้จริง เพราะไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตของตนเองได้ แต่ต้องปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งเกษตรกรไม่เคยรู้จัก
ไม่เพียงภาคเกษตรเท่านั้น ที่เกษตรกรฐานรากพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ทั้งต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สิน การถูกยึดที่ดิน รวมถึงหนีหัวซุกหัวซุนกับพวกเจ้าหนี้นอกระบบ แต่ในภาคทรัพยากร ที่เคยเป็นแหล่งรายได้และหนุนเสริมให้เศรษฐกิจฐานรากในชนบทเข้มแข็ง ก็ถูกแย่งชิงไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค และธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ต้องการใช้ทั้งพื้นที่ ผืนดิน และทรัพยากรอื่นๆ ที่ชนบทเคยมี ทั้งการกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกรเอง การรอกว้านซื้อที่ดินจากสถาบันการเงินที่ยึดที่ดินมาจากเกษตรกร พื้นที่ป่าของชุมชน ทรัพยากรแร่ ทอง และสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งการแย่งชิงเหล่านี้ ก็มักมาในนามการพัฒนาเศรษฐกิจการส่งออก การพัฒนาพลังงาน และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อความมั่นคงของประเทศทั้งสิ้น
การตั้งเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง จึงไม่สามารถทำได้เพียงหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องดูถึงทิศทางการพัฒนาประเทศองค์รวมให้มีความสมดุลและยั่งยืน โดยเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม ไม่เช่นนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคของประเทศในด้านอื่นๆ ก็จะกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะภาคเกษตรให้ย่อยยับเหมือนเช่นเคย
จริงอยู่ สังคมไทยอาจมีต้นทุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งอยู่บ้าง และสังคมชุมชนชนบทเองหลายแห่ง ก็มีความพยายามดิ้นรนที่จะยืนอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดการพึ่งพาตนเอง แนวคิดเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการดำรงอยู่ของชุมชน แต่แนวคิดเหล่านี้ ไม่ได้รับการส่งเสริม และการสร้างแรงจูงใจจากภาครัฐมากเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถขยายผล และดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
ยกกรณีตัวอย่างความเชื่อมโยงกันของฐานการผลิต และฐานทรัพยากรที่ชุมชนชนบทจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เช่น การพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสมดุลทางสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบเกษตรอินทรีย์ หรือระบบเกษตรยั่งยืน ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรจากภาครัฐเท่าที่ควร เกษตรกรจำนวนมากนอกจากจะลังเลว่าผลผลิตที่ได้จากเกษตรอินทรีย์ จะมีปริมาณเพียงพอเทียบเท่ากับเกษตรเคมีหรือไม่แล้ว ยังไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยใดให้ความมั่นใจได้ว่า จะมีแหล่งตลาดที่ขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์เหล่านั้นได้ด้วยราคาที่ยุติธรรม มีเพียงองค์กรเอกชนจำนวนหนึ่งที่ทำงานด้านนี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และมีตลาดสินค้าอินทรีย์รองรับ ก็ถือว่ายังมีสัดส่วนน้อยมากนัก
นอกจากนี้ฐานทรัพยากรสำคัญ ที่จะทำให้เกษตรกรมีระบบการผลิตที่ยั่งยืนและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ก็คือที่ดิน ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตทำกำไรมหาศาล แต่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศกลับไม่มีพื้นที่ทางนโยบาย สำหรับการจัดสรรที่ดินให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ประเทศไทยแม้จะส่งออกสินค้าเกษตรหลายอย่างเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมหภาค แต่กลับมีเศรษฐกิจฐานรากที่กลวงอย่างน่าใจหาย เพราะเกษตรกรในประเทศไทย มีความมั่นคงในที่ดินเพียง 28 % เท่านั้น ที่เหลืออีก 72 % คือเกษตรกรผู้เช่า ติดจำนอง หรือทำกินในที่ดินรัฐที่มีปัญหาเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน อาชีพเกษตรกรจึงไม่ได้มีชีวิตที่ปกติสุข อย่างเช่นอาชีพทั่วไป
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ไม่เห็นคุณค่าของนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า หากรัฐต้องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง องค์รวมของนโยบายภาครัฐ ทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากร ด้านพลังงาน และด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ควรต้องถูกพิจารณาปรับแก้ห้สอดรับกัน ไม่ใช่ว่ารัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งต้องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แต่รัฐมนตรีกระทรวงอื่นยังต้องการเวนคืนที่ดิน แย่งยึดที่ดิน อันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของเกษตรกรรายย่อย มาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วม
ทิศทางและองค์รวมของนโยบายภาครัฐ ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พร้อมกับความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกส่วน จึงจะเหมาะสมกับความหมายของคำว่า "ประชารัฐ" อย่างแท้จริง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 9 ตุลาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.