ที่ดินในฐานะปัจจัยการผลิตหลักที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตของเกษตรกร หากมองให้สอดรับกับสโลแกนเรื่องการคืนความสุขให้คนในชาติของรัฐบาลและคสช. โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำพูดหลายครั้งของท่านที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ ความตั้งใจที่ดี ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยให้น้ำหนักและเห็นถึงความสำคัญต่อปัญหาของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินและการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อย
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่า วาระเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมที่สำคัญสองเรื่องกลับสะดุดและหยุดลงไป แม้ว่าช่วงเริ่มต้นการทำงานของรัฐบาลมีแนวโน้มและความมุ่งมั่นอย่างมากในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติภาษีที่ดินฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่มีเป้าหมายเพื่อให้นายทุนผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก ต้องมีภาระต้นทุนจากการจ่ายภาษีที่ดินเพิ่มมากขึ้นให้กับท้องถิ่นและประเทศชาติ โดยรัฐสามารถนำเม็ดเงินภาษีเหล่านั้นไปดูแลเกษตรกรและประชาชนไร้ที่ดินทำกินที่เสียโอกาสจากการเข้าไม่ถึงที่ดินเพราะที่ดินมีการกระจุกตัวอยู่ในมือของผู้ถือครองรายใหญ่
รวมถึงการมีพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อป้องกันการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรไปสู่มือนายทุน และปกป้องพื้นที่เกษตรกรรม แต่มาถึงตอนนี้ความหวังต่อการกลไกและมาตรการเรื่องที่ดินเหล่านี้กลับเป็นกระแสที่แผ่วเบาและดูเหมือนว่าไม่ใช่วาระเร่งด่วนในการทำงานของรัฐบาลและคสช.เหมือนเช่นที่ผ่านมา
จากสถิติปริมาณการถือครองที่ดินโดยภาคเอกชนในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั่วประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 (ไม่รวมการครอบครองที่ดินส.ป.ก. ที่ดินป่าสงวนฯ ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นที่ดินรัฐ) ปัจจุบันมีที่ดินเอกสารสิทธิ์ที่ถือครองโดยเอกชนทั้งหมด 34.60 ล้านแปลง รวมเนื้อที่ 128.01 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินประเภทโฉนด 30.07 ล้านแปลง เนื้อที่ 100.15 ล้านไร่ (ร้อยละ 78) รองลงมาเป็นที่ดินประเภท น.ส.3ก จำนวน 3.31 ล้านแปลง เนื้อที่ 16.53 ล้านไร่ (ร้อยละ 13) ที่ดินประเภท น.ส.3 จำนวน 1.07 ล้านแปลง เนื้อที่ 9.85 ล้านไร่ (ร้อยละ 8) ที่ดินประเภท ใบจอง จำนวน 0.14 ล้านแปลง เนื้อที่ 1.47 ล้านไร่ (ร้อยละ 1) (ที่มา : กองแผนงาน กลุ่มข้อมูลและสถิติ กรมที่ดิน)
ในขณะที่งานวิจัยเรื่องการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย โดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2555 พบว่า มีเอกชนผู้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนดทั่วประเทศ จำนวน 95 ล้านไร่ จำนวนเพียง 19.5 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ สัดส่วนการถือครองที่ดินของทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดต่อกลุ่มผู้ถือครองที่ดินน้อยที่สุด มีความแตกต่างกันถึง 325.73 เท่า โดยผู้ถือครองที่ดินที่มีขนาดมากที่สุดถือครองที่ดินถึง 631,263 ไร่
จะเห็นได้ว่าปัญหาความไม่เสมอภาคและปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินในสังคมไทยมีสูงมาก ที่ดินเอกสารสิทธิ์ส่วนใหญ่อยู่ในการครอบครองของเอกชนเพียงไม่กี่ราย โดยสาเหตุหลักเกิดขึ้นมาจากพื้นฐานแนวคิดว่าที่ดินถือเป็นทรัพย์สินที่คนมีเงินมากต้องการมีไว้เพื่อสะสมความมั่งคั่งและเพื่อการเก็งกำไร ดังนั้นภายใต้ระบบทุนนิยมเสรี เอกชนหนึ่งรายจะสามารถกว้านซื้อและถือครองที่ดินเอกสารสิทธิ์ในประเทศนี้จำนวนเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัด และรัฐยังไม่เคยมีการจัดเก็บภาษีที่ดินอย่างเหมาะสม เพียงพอ และเป็นธรรม อันนำมาซึ่งปัญหาที่ดินและปัญหาการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรุนแรงหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปัญหาการกว้านซื้อและถือครองที่ดินขนาดใหญ่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวนาและเกษตรกรจำนวนมาก โดยจากการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การสูญเสียที่ดินของชาวนาภาคกลางอันเนื่องมาจากปัญหาการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มทุนล่าสุด พบว่า ชาวนาส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจขายที่ดินไปแล้ว หากเลือกได้ไม่มีชาวนารายใดต้องการสูญเสียที่ดินทำกิน
ดังนั้นการที่ต้องขายที่ดินถือเป็นเรื่องเจ็บปวดของชาวนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ดินซึ่งเป็นมรดกต่อทอดมาจากบรรพบุรุษและพ่อแม่ การที่ชาวนาจำเป็นต้องขายที่ดินมีทั้งกึ่งสมัครใจและไม่สมัครใจ เช่น ขายที่ดินเพื่อปลดหนี้สิน ขายที่ดินเพื่อนำเงินไปลงทุนอาชีพใหม่ บางรายที่ไม่สมัครใจ ขายที่ดินเพราะถูกบีบให้ขาย ถูกกดราคารับซื้อต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป ขายเพราะถูกปิดล้อมซื้อที่ดินจากแปลงรอบนอกจนหมด เมื่อเพื่อนบ้านแปลงข้างเคียงขายไปหมดแล้ว ชาวนารายนั้นจะถูกตัดขาดจากสังคม และถูกปิดทางเข้าออก จนต้องตัดสินใจขายที่ดินให้กับนายทุนไปในที่สุด
การกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มทุน จะเริ่มทยอยซื้อทั้งที่ดินแปลงเล็กและแปลงใหญ่ ใช้เวลาสะสมนานหลายสิบปี กระบวนการกว้านซื้อที่ดิน เมื่อเล็งเป้าหมายที่ดินได้แล้ว จะดำเนินการผ่านกลุ่มนายหน้า ตัวแทนและเครือข่ายธุรกิจ มีการติดต่อเจรจาโดยตรงกับผู้กว้างขวาง ผู้นำท้องถิ่น และกลไกราชการที่เกี่ยวข้อง
ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังการกว้านซื้อไปแล้ว จากเดิมกลุ่มทุนเหล่านี้มักไม่ได้ใช้ประโยชน์โดยตรง ปล่อยเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือให้เกษตรกรไร้ที่ดินเช่า แนวโน้มปัจจุบันกลุ่มทุนจะนำที่ดินที่สะสมไว้เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตรและใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยตนเองมากขึ้น มีการขยายรูปแบบโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ จากธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ที่ดินมากนัก มาสู่ธุรกิจที่สัมพันธ์กับที่ดิน เช่น ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการท่องเที่ยว
ทางออกต่อปัญหาการกว้านซื้อที่ดินขนาดใหญ่เพื่อสะสมที่ดินของกลุ่มทุนที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียที่ดินของชาวนาและเกษตรกรรายย่อย ภายใต้ระบบกลไกตลาดและทุนนิยมเสรีอาจไม่สามารถหวงห้ามและจำกัดไม่ให้เกิดขึ้นได้โดยตรง อย่างไรก็ตามการผลักดันมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินและป้องกันการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรทางอ้อมในเรื่องภาษีที่ดินฯ และกองทุนธนาคารที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายระดับชาติและระยะยาว โดยทางออกส่วนหนึ่งที่สามารถเริ่มต้นได้เองในระดับพื้นที่ นั่นคือ การรวมพลัง การสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มชาวนาเพื่อรักษาที่ดิน ป้องกันการสูญเสียที่ดินไม่ให้ตกไปอยู่ในมือคนภายนอกชุมชน การขยายผลให้เกิดกระแสความตระหนักต่อปัญหาการกว้านซื้อที่ดินที่ส่งผลกระทบเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารของสังคม
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 2 ตุลาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.