ข้าวเป็นพืชที่มีการผสมพันธุ์ในตัวเอง หากเกษตรกรไม่ได้คัดเลือกและคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีและบริสุทธิ์เก็บไว้เพาะปลูกในรุ่นถัดไปด้วยตนเอง ทุกๆ 3-4 ปี ข้าวที่ปลูกไว้จะมีการกลายพันธุ์ เป็นข้าวดีด และมีพันธุ์อื่นมาผสมปะปนในที่สุด โดยเฉพาะการปะปนมากับรถเกี่ยวข้าวที่ชาวนาใช้บริการร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตข้าวที่ตกต่ำลง และกลายเป็นต้นทุนการผลิตที่สูญเปล่า
วิกฤติเมล็ดพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์มีแนวโน้มขาดแคลน ทางวิชาการแนะนำว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ควรมีการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุก 2-3 ปี พื้นที่นาปรังควรมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกปี จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 79 ล้านไร่ ปัจจุบันปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชาวนาต้องการโดยรวมทั้งประเทศมีสูงถึงปีละ 1.4 ล้านตัน แต่มีปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์และได้มาตรฐานอยู่เพียงปีละ 5.2 แสนตันเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 37 ของความต้องการ
สัดส่วนผู้ผลิตแบ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชน 3 แสนตัน กรมการข้าว 0.85 แสนตัน สหกรณ์การเกษตร 0.35 แสนตัน และธุรกิจเอกชน 1 แสนตัน โดยมีส่วนต่างของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหลืออีก 8.8 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 63 ซึ่งส่วนใหญ่ชาวนาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง แต่ก็ยังขาดวิธีปฏิบัติที่ดี ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้ยังไม่มีคุณภาพ และชาวนาบางส่วนมีการซื้อเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำที่ไม่ได้มาตรฐานจากท้องตลาดมาใช้ (ที่มา: ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการผลิต ปี 2558-2562 , กรมการข้าว)
จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 65 ยังอยู่ในมือของกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ที่เหลือเป็นของภาคธุรกิจเอกชน ร้อยละ 19 และภาครัฐ ร้อยละ 16 ธุรกิจการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรมหาศาลและมีโอกาสขยายตัวทางการตลาดได้อีกมาก ในช่วงระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มมากขึ้น โดยผลิตทั้งในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญากับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ และในพันธุ์ข้าวลูกผสมใหม่ที่บริษัทเป็นเจ้าของสิทธิบัตร และข้าวพันธุ์แท้ทั่วไป รวมถึงบางแห่งมีการกว้านซื้อที่ดินและว่าจ้างเกษตรกรให้เป็นแรงงานรับจ้างดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้บริษัทเอง
ในเชิงยุทธศาสตร์ เรื่องเมล็ดพันธุ์ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของระบบการผลิตอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน และกำหนดความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร นั่นคือ หากใครสามารถผูกขาดและครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ได้ ก็จะสามารถควบคุมแบบแผนการผลิต แบบแผนการบริโภค และห่วงโซ่อาหารของสังคมได้
จุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่(การปฏิวัติเขียว)ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย เกิดจากการปฏิวัติการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาและส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปรับปรุงใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง (High Yield Varieties) ดังจะเห็นได้ว่าสายพันธุ์ข้าวปรับปรุงใหม่ ที่หน่วยงานรัฐแนะนำและส่งเสริมให้ชาวนาปลูกตลอดระยะกว่า 40 ปีที่ผ่านมา (หากไม่นับข้าวหอมมะลิ 105) ล้วนเป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้น ที่ตอบสนองและเหมาะสมต่อการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มากกว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่คุณภาพดี มีคุณค่าทางโภชนาการ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่แตกต่าง
ประเทศไทยมีความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน มากกว่า 17,000 สายพันธุ์ พันธุ์ข้าวในทุกสายพันธุ์มีข้อดี ข้อด้อย ไม่มีข้าวพันธุ์ไหนสมบูรณ์ไปเสียทั้งหมด การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของข้าว ทั้งความแข็งแรงของต้นข้าว ต้านทานโรคและแมลง ให้ผลผลิตที่ดี และรสชาติถูกปากผู้บริโภค
การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นช่องทางให้กลุ่มธุรกิจการเกษตรเข้าสู่ตลาดเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสของกลุ่มเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพข้าว จากการผลิตข้าวทั่วไปเพื่อขายพ่อค้า มาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มรายได้ และสร้างอำนาจต่อรอง สำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่ม เมล็ดพันธุ์ข้าวจะมีรายได้มากกว่าการขายข้าวทั่วไปเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 (ที่มา: ศูนย์ข้าวชุมชน)
ในช่วงระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีกรณีตัวอย่างชาวนานักปรับปรุงพันธุ์ข้าวหลายคน สามารถนำแนวทางการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ได้เรียนรู้จากนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน ไปค้นคว้า ทดลองด้วยตนเอง จนประสบผลสำเร็จและสามารถพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ด้วยตนเอง เช่น พ่อแดง หาทวี ชาวนา อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี สามารถผสมข้าวหอมทุ่งกับข้าวอีเตี้ย จนได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ตั้งชื่อว่า ข้าวหอมทวี ที่มีกลิ่นหอมฟุ้งไกล และให้ผลผลิตดีถึง 757 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น
นอกจากนี้คุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ที่ยังไม่ถูกเผยแพร่ออกไปยังมีอีกมาก เช่น ข้าวเจ้าเหลืองอ่อน มีโฟเลตสูง (Folic acid) เหมาะกับสตรีมีครรภ์ที่ต้องการโฟเลตเพื่อช่วยในกระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) และสังเคราะห์กรดอะมิโนอีกหลายตัว
ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวป้องแอ้ว มีปริมาณน้ำตาลกลูโคสที่ให้พลังงานอย่างรวดเร็ว ภายใน 20 นาที (rapidly available glucose) เหมาะกับนักกีฬา ในทางตรงข้าม ข้าวที่มีปริมาณน้ำตาลกลูโคสต่ำ ได้แก่ ข้าวเจ้าแดง ข้าวเจ้ามะลิแดง เหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยเบาหวาน ข้าวที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวที่พบวิตามินบี 1 สูง ได้แก่ ข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวมะลิแดง (ที่มา : ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ดังนั้นจึงมีความสำคัญ ที่กลุ่มชาวนาจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องรักษาสัดส่วนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยกันเก็บรวบรวม คัดเลือก พัฒนาปรับปรุง และขยายพื้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ให้อยู่ในมือของชาวนา ซึ่งย่อมรวมถึงการพัฒนารูปแบบการผลิตให้มีความหลากหลาย สอดคล้องและเกื้อกูลต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
รวมไปถึงตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่นให้มีความหลากหลาย ใช้พันธุ์พืชท้องถิ่นเพาะปลูก ทั้งเพื่อการเลี้ยงชีพ และสร้างเศรษฐกิจผ่านคุณค่าเรื่องราวที่ผูกโยงกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น และการรักษาพันธุกรรมของชุมชน
เพื่อยกระดับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน และการจัดการตลาดร่วมกันโดยกลุ่มเกษตรกร... เพื่อนำไปสู่อิสรภาพทางพันธุกรรมและอิสรภาพในการกำหนดวิถีการผลิตของชาวนาได้อย่างแท้จริง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 11 กันยายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.