ในระหว่างศึกษาวิจัยเรื่องหนี้นอกระบบกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรกลุ่มหนึ่ง ที่จังหวัดราชบุรี และได้เห็นถึงความซับซ้อนและน่ากลัวของปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยในปัจจุบัน บทความชิ้นนี้ จะขอยกกรณีตัวอย่างประสบการณ์หนี้นอกระบบของเกษตรกรรายหนึ่ง สมมุติว่าชื่อพี่ไก่ ปัจจุบันอายุ 39 ปี ประกอบอาชีพทำนาและรับจ้างทั่วไป ระดับการศึกษาจบชั้นม.6 ปัจจุบันมีครอบครัวซึ่งสามีประกอบอาชีพรับซ่อมรถจักรยานยนต์และเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีลูกทั้งหมด 2 คน คนโตลูกสาว อายุ 16 ปี กำลังศึกษา และคนเล็กลูกชายอายุ 9 ขวบ
การเข้าสู่ปัญหาหนี้นอกระบบ พี่ไก่เล่าว่าเมื่อตนเองเริ่มออกเรือน แต่งงานมีครอบครัวและต้องการจะขยับขยายที่อยู่ ทำให้ต้องเริ่มกู้หนี้เพื่อนบ้านในละแวกชุมชน มาสร้างบ้านสำหรับทำที่อยู่อาศัย เพราะครอบครัวพี่ไก่ไม่มีเครดิตเพียงพอในการไปกู้ธนาคารได้ ขณะนั้นทั้งพี่ไก่และสามีมีอาชีพทำนาและรับจ้างทั่วไปในละแวกบ้าน เพื่อนบ้านจึงกลายแหล่งเงินกู้ที่สำคัญที่สุดในชุมชน ทั้งรูปแบบการเล่นแชร์รายเดือน รายวัน รายอาทิตย์ หรือการหยิบยืมอาหารและของใช้จากร้านค้าในชุมชน ทั้งหมดนี้คือการหมุนเงินเพื่อดำรงชีวิตประวันของพี่ไก่ ซึ่งเป็นชาวนารายย่อยที่จำเป็นต้องมีเงินแหล่งกู้ไว้ใช้ ในยามฉุกเฉิน
การกู้หนี้ในชุมชน พี่ไก่เล่าว่ามีอัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 5-10 ต่อเดือน หนี้สินก้อนแรกนี้กู้มาเพื่อต่อเติมบ้าน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับครอบครัว แต่จากการประกอบอาชีพของพี่ไก่ ที่ทำนาในที่ดินของตัวเองที่มีอยู่เพียง 1 ไร่ และต้องทำงานรับจ้างเสริม ทำให้พี่ไก่ มีรายได้ที่ไม่มั่นคง รายได้ไม่พอรายจ่าย บางครั้งชักหน้าไม่ถึงหลัง ภารกิจประจำวันที่สำคัญก็คือหาเงินเพื่อหมุนมาใช้หนี้เพื่อนบ้านในชุมชน และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งข้าวก็ต้องซื้อ กับข้าวก็ต้องหาทุกวัน ลูกต้องไปโรงเรียน และค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ เมื่อไม่มีรายได้เพียงพอ ทำให้พี่ไก่วนเวียนไปพึ่งเงินกู้ในชุมชนมาหมุนอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำงานหาเงินมาได้ ก็นำไปใช้หนี้ จ่ายดอกเบี้ย และส่งแชร์ก่อน ที่เหลือบ้างคือซื้อของกิน และใช้จ่ายส่วนอื่นๆ การที่พี่ไก่พยายามใช้หนี้ให้ได้ เพราะต้องการรักษาเครดิตไว้ให้สามารถกู้หนี้มาหมุนได้ต่อไป เพราะหากเสียความไว้วางใจ เมื่อมีปัญหาก็จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้
พี่ไก่ไม่สามารถพึ่งพิงธนาคารรัฐได้เพราะกระบวนการกู้เงิน ยุ่งยาก ซับซ้อนและตนไม่มีเครดิต รวมถึงไม่มีหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันได้ ในส่วนของที่ดินนั้น มีที่ดินของพ่อแม่ที่เป็นสมบัติปู่ย่าเหลืออยู่ประมาณ 1 ไร่ โดยพี่ไก่เล่าว่า แต่เดิมเคยมีทั้งหมด 15 ไร่ แต่ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าได้เอาที่ดินผืนนี้ไปจำนองกับเจ้าหนี้นอกระบบและไม่มีเงินส่งคืน เจ้าหนี้นอกระบบจึงขู่จะมายึดที่ดิน ปู่ย่าจึงตัดสินใจขายที่ดินใช้หนี้และเหลือไว้เพียง 3-4 ไร่ หลังจากนั้นจึงต้องทำอาชีพรับจ้างควบคู่ไปกับการทำนา ชาวนาอย่างพี่ไก่ จึงมีประสบการณ์หลายอย่าง นอกเหนือจากการทำนา ไม่ว่าจะรับจ้างทำเข่ง ทำตะกร้า รับจ้างทั่วไปตามไร่นา ไปเป็นสาวโรงงานแถวราชบุรีก็เคยเป็น
ในรุ่นพ่อของพี่ไก่ ได้ที่ดินจากปู่มา 1 ไร่ แต่เนื่องจากปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย พ่อของพี่ไก่จึงเอาที่ดินส่วนนี้ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยด้วย ไปจำนองกับเจ้าหนี้นอกระบบอีกเป็นเงิน 1 แสนบาท เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ แต่ไม่ต้องการสูญเสียที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายของครอบครัว พี่ไก่จึงต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือและยืมเงินจากผู้ใหญ่บ้านและคนในชุมชนรวมๆกันอีก 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ต้องเสียดอกเบี้ย เมื่อรวมกับหนี้เดิมที่พี่ไก่ยืมและหมุนมาตลอด 10 ปี ทำให้พี่ไก่มีหนี้นอกระบบถึง 200,000 บาท เมื่อยืมเงินเพื่อนบ้านไถ่โฉนดที่ดินของพ่อมาแล้ว ก็เอาโฉนดที่ดินไปจำนองไว้ที่ ธ.ก.ส. อีก เพื่อเอามาจ่ายหนี้นอกระบบ ทำให้พี่ไก่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบที่แก้ไขไม่จบ เพราะเงินที่ได้มาจาก ธ.ก.ส. ก็ใช้หนี้นอกระบบไม่หมด ในระหว่างที่แบกหนี้จำนวนมากขึ้น และดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้ ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในชุมชนของพี่ไก่น้อยลง
สุดท้ายเพื่อรักษาเครดิตและมีเงินมาใช้หนี้เพื่อนบ้านในชุมชน พี่ไก่เลยตัดสินใจพึ่งหนี้เงินด่วนตามเสาไฟฟ้า เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหนี้นอกระบบ ที่มาในรูปแบบคนขับมอเตอร์ไซต์ใส่หมวกกันน็อค โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยถึงร้อยละ 20 ต่อวัน พี่ไก่เล่าว่าเคยหมุนหนี้ส่งพวกหมวกกันน็อค ถึง 1,000 บาทต่อวัน ตอนนั้นสภาพครอบครัวหดหู่ย่ำแย่ เป็นชาวนาแต่ไม่มีแม้กระทั่งเงินจะซื้อข้าวสารกิน เคยแม้กระทั่งมีไข่อยู่ฟองเดียว แต่ต้องกินกันทั้งบ้าน เศร้าจนเคยคิดที่จะกินยาตายกันทั้งครอบครัว ลำบากจนคนทวงหนี้หมวกกันน็อคที่เคยขู่ทำร้าย บอกให้หนีออกไปจากชุมชนเสีย
สภาพปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรนี้ สะท้อนให้ตั้งคำถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงปัจเจกที่ตัวเกษตรกรเพียงอย่างเดียวจริงหรือ หรือโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่มีผลต่อปัญหานี้อย่างไร นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงจุดแค่ไหน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกร การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยถูกที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์และเข้าถึงได้ง่ายยามฉุกเฉิน และอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรมีความเป็นรูปธรรมอย่างไร ในฉบับต่อไปผู้เขียนจะเล่าถึงทางออกว่าพี่ไก่ที่เป็นหนี้นอกระบบอย่างสาหัสคนนี้ สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของเธอได้อย่างไร
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 4 กันยายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.