เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมฟังคำสั่งหรือคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในกรณีการรับหรือไม่รับคำฟ้องของเกษตรกร ซึ่งได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ กรณีการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือ "คดีโลกร้อน" โดยมิชอบ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินโดยปกติสุขของเกษตรกร และกระทบต่อสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540
นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ตัวแทนเกษตรกรและองค์กรชุมชน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ประกอบด้วย บุคคล ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม รวม 23 ราย ได้ยื่นคำฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ (แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน) และขอให้มีกระบวนการปรับปรุงและแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักทางวิชาการและจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำมาบังคับใช้
เป็นเวลายาวนานกว่า 4 ปี (ปี 2555-2558) บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลและกระบวนการยุติธรรมของเกษตรกร ล่าสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดจากศาลปกครองสูงสุดตัดสินแนวทางการใช้อำนาจรัฐเพื่อฟ้องเกษตรกรรายย่อยในข้อกล่าวหาทำความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและค่าเสียหายทำให้โลกร้อนออกมาแล้ว คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ คส. 20/2558 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2558 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา) ผลการพิจารณา คือ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่รับคำร้องอุทธรณ์ของเกษตรกร โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองชั้นต้น ในสองประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง หนังสือ/คำสั่ง แบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ เป็นคำสั่งภายใน ไม่ใช่คำสั่งที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ฟ้องคดี ศาลปกครองพิจารณาเห็นว่าหนังสือคู่มือการใช้แบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ และหลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าเสียหายทางแพ่งจากการบุกรุกทำลายป่าไม้ ซึ่งออกโดยกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ เป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์ภายในฝ่ายปกครอง มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำการหรือสั่งการต่อผู้บุกรุกแผ้วถางหรือทำลายป่าไม้โดยตรง โดยเป็นการสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดฯ ประเมินและคำนวณค่าเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายเพื่อทราบจำนวนที่ชัดเจนสำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อศาลต่อไป ส่วนศาลจะพิจารณากำหนดให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเท่าใด ย่อมขึ้นอยู่กับการนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาล หนังสือคำสั่งดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับโดยตรงกับชาวบ้านผู้ฟ้องคดี ผุ้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายจากหนังสือคำสั่งดังกล่าว ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ประเด็นที่สอง เกษตรกรผู้ฟ้องคดีไม่สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐ ในการจัดการ การบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นต่อสู้คดีในกรณีข้อพิพาทนี้ได้ เมื่อข้อพิพาทเรื่องความรับผิดทางแพ่งของผู้กระทำหรืองดเว้นการกระทำด้วยประการทั้งปวงโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่เป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
เป็นเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 ซึ่งให้อำนาจหน่วยงานของรัฐคิดค่าเสียหายจากผู้ก่อความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทางส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สร้างและพัฒนาแบบจำลองการคิดค่าเสียหายโลกร้อนขึ้นและนำแบบจำลองดังกล่าวมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าเสียหายทางแพ่งเพื่อเอาผิดและฟ้องร้องกับเกษตรกรและชุมชนดั้งเดิม ที่มีพื้นที่ทำกินทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าสงวนแห่งชาติ (เกษตรกรทั้งหมดจะถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหาขับไล่ออกจากพื้นที่ป่าและต่อด้วยการฟ้องคดีทางแพ่งหรือคดีคิดค่าเสียหายโลกร้อนร่วมด้วย)
แม้ว่าวันนี้ช่องทางของศาลปกครองเพื่อเพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อนที่เอาผิดกับเกษตรกรและองค์กรชุมชนดั้งเดิมจะได้รับการปฏิเสธและเดินมาถึงที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามตัวแทนเกษตรกรและองค์กรชุมชนผู้ฟ้องคดีที่มาร่วมฟังคำสั่งศาลในครั้งนี้ ต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า เส้นทางการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหา ต่อสู้กับมายาคติทางวิชาการและมายาคติทางสังคม ที่มองว่าเกษตรกรคือต้นเหตุการทำลายป่าและทำให้โลกร้อน เส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมยังไม่สิ้นสุดและต้องเดินหน้าต่อไป ที่สำคัญคือการสร้างให้เกิดความร่วมมือกับนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสาขาต่างๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ เพื่อร่วมกันแสดงความเห็นและส่งเสียงให้ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า "แบบจำลองการคิดค่าเสียหายโลกร้อน ถือเป็นความอับอายทางวิชาการ วิธีประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่ใช้ไม่มีความเหมาะสมและถูกต้องตามหลักทางวิชาการ ต้องมีการทบทวนและแก้ไขอย่างเร่งด่วน"
รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาว แนวทางการใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม การสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจกับสังคมในวงกว้าง เป้าหมายของการแก้ไขปัญหาคดีโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อทวงคืนสิทธิผืนดิน สิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ต้องนำไปสู่การสร้างให้เกิดการยอมรับสิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 21 สิงหาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.