เมื่อวันที่ 13-14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเล็กๆ ระหว่างเกษตรกรกลุ่มที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินและกำลังจะสูญเสียที่ดิน กับกลุ่มเกษตรกรที่มีประสบการณ์การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ
และสามารถรักษาที่ดินของตนเองไว้ได้ กลุ่มเกษตรกรทั้ง 5 กลุ่ม ที่ร่วมแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ประกอบด้วย "กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต" อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา "กลุ่มพัฒนาเกษตรกรหมู่ 7" อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา "กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติโพธาราม" อ.โพธาราม จ.ราชบุรี "กลุ่มพัฒนาเกษตรยั่งยืน" อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม และ "กลุ่มดอนมะโนราร่วมใจ" อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย ในประเด็นปัญหาหนี้สิน การสูญเสียที่ทำกิน และหาทางออกร่วมกัน บทความชิ้นนี้จะขอสรุปภาพรวมจากเวทีแลกเปลี่ยนนี้ เพื่อให้เห็นมุมมองการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการรักษาที่ดินในทัศนะของเกษตรกร
เกษตรกรส่วนใหญ่ในเวทีนี้เห็นว่าปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นในครัวเรือนเกษตรกร มีหลายเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยในส่วนของตัวเกษตรกรเอง เช่น ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในชีวิตที่เกิดขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญ และปัจจัยเกี่ยวข้องในเชิงโครงสร้าง ที่ตัวเกษตรกรเองไม่ได้เป็นผู้กำหนด เช่น สภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนไป ราคาพืชผลที่ตกต่ำไม่คุ้มต้นทุน ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ นโยบายรัฐ และสถานการณ์การเมือง ฯลฯ
เกษตรกรกลุ่มที่มีประสบการณ์แก้หนี้ให้ความเห็นว่า เกษตรกรที่กำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้สินนั้น อาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจความคิดของตนเองและครอบครัวเป็นลำดับแรก ในขั้นแรกนั้นเกษตรกรไม่ควรรอกระบวนการแก้ไขปัญหา การสนับสนุนจากกลุ่ม หรือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรควรเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างมีสติ ไม่หนีปัญหา เพื่อตั้งหลักในการแก้ไขปัญหาให้ได้ด้วยตนเอง ส่วนปัญหาที่เกินกว่าระดับตัวเกษตรกรเพียงลำพังจะแก้ไขได้ ก็อาจต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากกลุ่ม
จากการแลกเปลี่ยนพบว่า กลุ่มเกษตรกรที่มีประสบการณ์มากพอ จะสามารถเสริมความเข้มแข็งและเปิดช่องทางเรียนรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูวิถีการทำมาหากินของเกษตรกรได้
กลุ่มเกษตรกรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ล้วนถูกตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร เกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ว่า การรวมกลุ่มถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพราะเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีสวัสดิการสังคม การรวมกลุ่มของเกษตรกรจึงเป็นเหมือนเครื่องมือ หรือองค์กรที่ปกป้องคุ้มครองเกษตรกร และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันยังช่วยให้เกษตรกรเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ทำเพียงลำพังไม่ได้ เช่น การทำออมทรัพย์แบบกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินกลุ่มออมทรัพย์ไปลงทุนทำการเกษตรด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ในกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง ยังพบด้วยว่ามีการช่วยเหลือของกลุ่ม ในการซื้อที่ทำกินของเกษตรกรไว้ก่อนชั่วคราวเพื่อลดปัญหาที่ดินหลุดมือ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มยังทำหน้าที่ให้ความรู้กับเกษตรกรในข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกษตรกรจำเป็นต้องรู้ด้วย
ที่น่าประทับใจมากคือ กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มสามารถไปได้ไกลกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ คือมีการประกันราคาผลผลิตให้กับเกษตรกรสมาชิก ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเกษตรกรที่ต้องการให้มีการประกันราคาผลผลิต จะต้องค่อยๆ ปรับรูปแบบการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ และทำตามแผนการผลิตที่กำหนดร่วมกันระหว่างตัวเกษตรกรกับกลุ่ม แม้จะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกษตรกรทำงานมากขึ้น แต่ก็ทำให้เกษตรกรหมดความกังวลกับปัญหาไม่รู้จะไปขายผลผลิตที่ไหน หรือไม่ต้องเจอกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำซ้ำซากอีกต่อไป
สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่ากระบวนการกลุ่มที่เข้มแข็งของเกษตรกร สามารถทำหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเกษตรกรสามารถพึ่งพากลุ่มได้ ทั้งในแง่เงินลงทุนทำการผลิต และการประกันราคาผลผลิต โดยไม่ต้องไปกู้เงินเจ้าหนี้นอกระบบ หรือธนาคารของรัฐ ซึ่งทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน
การทำงานของกลุ่มเกษตรกร ยังครอบคลุมไปถึงการฝึกทักษะและให้ความรู้กับสมาชิก ในเรื่องที่จำเป็นต่อการทำงานร่วมกัน เช่น การทำบัญชี การวางแผนการผลิต การทำการตลาด และการขายสินค้าตรงกับผู้บริโภค ถึงแม้ว่าการทำงานร่วมกันของกลุ่มเกษตรกรจะไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีปัญหาหรืออุปสรรค แต่จากการแลกเปลี่ยน หลายกลุ่มมีกำลังใจที่เข้มแข็ง และมองว่าอุปสรรคเหล่านั้นคือบทเรียนในการเรียนรู้ที่จะทำให้กลุ่มดำเนินต่อไปในอนาคต ขอเพียงแต่เกษตรกรต้องมั่นใจในแนวทางการแก้ไขและอาศัยกระบวนการกลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก้ไขปัญหาไปด้วยกัน
ส่วนเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง พบว่าปัจจัยสำคัญคือการเข้าใจปัญหาของสมาชิกและการดูแลกันในกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึงการเปิดใจรับฟังที่สร้างความไว้วางใจต่อกันระหว่างสมาชิกกับแกนนำ ความใกล้ชิดและการใส่ใจดูแลกัน ยังช่วยลดปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้
การสรุปในช่วงท้ายจึงเห็นร่วมกันว่า การรวมกลุ่มจึงเป็นเหมือนหลักประกันอาชีพที่มั่นคงสำหรับเกษตรกร การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติโดยลำพัง หรือรอเพียงนโยบายจากรัฐที่เมื่อมีนโยบายออกมาแล้ว ก็มักไม่สามารถแก้ปัญหาเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน และหลายครั้งกลับทิ้งปัญหาใหม่ให้กับเกษตรกรรับภาระโดยลำพังอีกด้วย
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 14 สิงหาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.