ข่าวการรวมตัวกันขององค์กรชาวนาและสมาคมชาวนาต่างๆ เป็นสหพันธ์สมาคมชาวนาไทย เมื่อไม่นานมานี้ ดูเหมือนน่าจะเป็นข่าวดี ที่มีการรวมตัวกันอีกครั้งขององค์กรชาวนา เพื่อต่อรองเจรจาผลประโยชน์ของการปลูกข้าว สีข้าว และขายข้าว ที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ ไม่ได้ตกอยู่กับชาวนา แต่ไปอยู่กับพ่อค้าขายปัจจัยการผลิต เจ้าของโรงสี และผู้ค้าข้าวทั้งในและส่งออกต่างประเทศ
แต่ในฐานะคนที่ทำงานกับชาวนา และเห็นปัญหาของชาวนามานาน ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่า การรวมตัวครั้งนี้ จะจบลงเหมือนการรวมตัวในครั้งก่อนๆ หรือไม่ ที่ผลประโยชน์ของชาวนา กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาต่อรองเจรจาในระดับนโยบาย แต่ผลประโยชน์ก็ตกไปไม่ถึงมือชาวนายากจน คนตัวเล็กๆ เช่นเคย ก็ได้แต่หวังว่าคงเป็นแค่ความหวั่นใจ ตัวแทนชาวนาในสหพันธ์สมาคมชาวนาไทย น่าจะมีบทเรียนที่มากพอ และไม่ทำให้ชาวนากว่า 18 ล้านคน ผิดหวัง
ปัญหาของชาวนาไทย สะสมจนซับซ้อน การคลี่คลายควรจะยืนอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า ทำอย่างไรให้ชาวนาไทยสามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุด เพราะปัจจุบันทั้งการดำเนินชีวิต และการทำการผลิตของชาวนาต้องพึ่งพาคนอื่นมาก เมื่อต้องพึ่งพามาก จึงไม่มีความเป็นอิสระ กำหนดวิถีชีวิตและวิถีการผลิตของตนเองแทบไม่ได้
การพึ่งพาประการแรกที่เห็นเด่นชัดที่สุดของชาวนาปัจจุบัน คือการพึ่งพาที่ดินทำนาจากเจ้าของนาเช่า เพราะชาวนาปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นชาวนาเช่า มีที่นาน้อย หรือไม่มีที่นาเลย หากเจ้าของนาไม่ให้เช่าที่ดินทำนา ชาวนาก็ไม่สามารถทำนาได้ และจะส่งผลกระทบทำให้ไม่มีรายได้จากการทำนา นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเจ้าของนาถึงสามารถขึ้นและลงค่าเช่านาได้ตามอำเภอใจ เพราะว่าที่ดินคือแหล่งที่มารายได้ของชาวนา ชาวนาจึงมักต้องยอมและอยู่ในสภาพพึ่งพาเจ้าของนามาโดยตลอด
การพึ่งพาประการที่สองที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการพึ่งพาแหล่งเงินกู้ ทั้งธนาคารสถาบันการเงินในระบบ และเจ้าหนี้นอกระบบ ชาวนาปัจจุบันไม่มีเงินลงทุนทำนาเป็นของตนเอง กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องยืมเงินจากพ่อค้า นายทุน และธนาคารมาลงทุนทำนาก่อนทั้งนั้น ถ้าไม่มีคนให้ยืมเงินก่อน ชาวนาก็ทำนาไม่ได้ ซึ่งหมายถึงรายได้จะหดหายไป นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวนารู้สึกกังวลใจมาก หากไม่สามารถนำเงินไปชำระหนี้เก่าได้ เพราะหากไม่นำเงินไปชำระหนี้เก่า ก็หมายถึงไม่สามารถกู้ยืมเงินก้อนใหม่มาลงทุนทำนาในปีปัจจุบันได้ ซึ่งจะทำให้ฐานะทางการเงินของชาวนาทรุดหนักลงไปกว่าเดิม
การพึ่งพาประการที่สาม คือการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกในทุกขั้นตอนของการทำนา ชาวนาปัจจุบันทำนาในรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก อาชีพทำนากลายเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกทั้งหมด เพราะว่าไม่สามารถผลิตและทำเองได้ ปัจจัยการผลิตที่ชาวนารุ่นพ่อแม่เคยผลิตได้เอง แต่ชาวนารุ่นปัจจุบันต้องซื้อก็คือ เมล็ดพันธุ์ข้าว ซี่งอดีตเคยเก็บรักษาพันธุ์ได้เอง ปุ๋ยเคมี ซึ่งเคยใช้มูลสัตว์บำรุงดิน ยาฆ่าแมลง ซึ่งในอดีตเคยมีระบบนิเวศในนาที่ดี ปลูกพืชหลากหลาย แมลงจึงไม่รบกวนมาก ยาฆ่าหญ้า ที่ในอดีตเคยใช้แรงงานคนจัดการ และเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถไถเตรียมดิน รถเกี่ยวข้าว ซึ่งในอดีตใช้แรงงานสัตว์เตรียมดิน และใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยวผลผลิต วิถีการทำนาที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ ทำให้การทำนาเป็นอาชีพที่ไม่สามารถพึ่งปัจจัยจากนาของตัวเอง แต่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากแหล่งภายนอก อาทิ ร้านค้าปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ เจ้าของรถไถ และรถเกี่ยวข้าว ซึ่งแน่นอนว่าชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาและต้นทุนได้เอง และต้องใช้เงินลงทุนทำนาจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
การพึ่งพาประการที่สี่ คือการพึ่งพาการแปรรูปข้าวและการขายข้าวให้กับโรงสีและพ่อค้าภายนอกชุมชน ชาวนาในปัจจุบัน ไม่มีโรงสีข้าวขนาดเล็กของตัวเอง หรือโรงสีข้าวของกลุ่มชุมชนเช่นในอดีต เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก็ไม่ได้นำข้าวไปสีในชุมชนเพื่อเก็บไว้กิน สำรองไว้ในยุ้งฉาง หรือขายบางส่วนเช่นในอดีต แต่จะนำข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้ไปสีที่โรงสีใหญ่ และขายข้าวให้กับโรงสีเลย ในขั้นตอนนี้ ชาวนาต้องพึ่งพาโรงสีอย่างมากในการรับซื้อข้าว เพราะหากโรงสีไม่รับซื้อข้าว ชาวนาจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในการเทียวหาโรงสีที่จะรับซื้อข้าวของตนเอง หรือต้องรอนานกว่าจะขายข้าวได้ ซึ่งจะทำให้มีรายได้ไปใช้คืนหนี้สินช้าลง นี่เป็นเหตุผลที่ชาวนาต้องพึ่งพาโรงสีมาก และต้องยอมให้โรงสี เป็นผู้กำหนดราคาข้าวที่ตนเองเป็นผู้ปลูกและลงทุนทำนา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอยู่ไม่น้อย
การพึ่งพาประการสุดท้าย คือการพึ่งพาความช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐ ในการประกันราคาผลผลิต และประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งการพึ่งพาประการสุดท้ายนี้ เคยมีในอดีตบ้าง เช่นการประกันราคาผลผลิตในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ต่อเนื่อง ส่วนการประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ แม้จะเป็นข้อเรียกร้องของชาวนาที่ต้องการให้รัฐประกัน ช่วยเหลือ และร่วมรับผิดชอบหากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ภาครัฐก็ยังไม่สนองตอบแต่อย่างใด
เห็นได้ชัดว่า ในกระบวนการทำนาของชาวนาปัจจุบัน เป็นการทำนาบนพื้นฐานของการพึ่งพาปัจจัยภายนอกและพึ่งพาคนภายนอกเป็นอย่างมาก นี่เองที่ทำให้อาชีพทำนาไม่เคยมั่นคง ไม่สามารถกำหนดทิศทางของตนเองได้ และไม่สามารถอยู่รอดได้ทางเศรษฐกิจ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐและสถาบันภายนอก
หลายเรื่องเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ภาครัฐเองก็ดูเหมือนรับรู้ แต่กลับไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับชาวนาได้ เช่น การที่ชาวนาไม่มีที่ทำกิน ต้องเช่าที่นาและแบกรับต้นทุนค่าเช่านาเพิ่มขึ้นอีกไร่ละประมาณ 1000-1500 บาท หรือการที่ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารสถาบันการเงินแพง หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และอาจส่งผลต่อการถูกยึดที่นา แต่ภาครัฐก็ไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจทางเศรษฐกิจ กำหนดดอกเบี้ยให้ต่ำลง หรือยื่นมือเข้าช่วยเหลือเมื่อชาวนาถูกยึดที่นาได้
ความหวังที่ชาวนาจะพึ่งพารัฐ เพื่อให้ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้ จึงดูเหมือนว่าจะมี แต่ที่ผ่านมากลับไม่มี
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เหลือเพียงตัวชาวนาเอง หรือแม้แต่องค์กรของชาวนาเองที่ตั้งขึ้นมาในระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ ที่ต้องมองให้เห็นถึงปัญหาการไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ อันเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญ ที่นำมาสู่ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวนาในยุคสมัยปัจจุบัน
รวมถึงอาจจะต้องมองให้ออกด้วยว่า การช่วยเหลือของภาครัฐ หรือแม้แต่การช่วยเหลือขององค์กรชาวนาที่จะมีให้กับชาวนานั้น มาตรการแบบใดที่เป็นแค่มาตรการเยียวยาระยะสั้นชั่วคราว และมาตรการแบบใดจึงจะสามารถสร้างความมั่นคง และยั่งยืนให้กับชาวนาได้ในระยะยาว
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะต้องซ้ำรอยประวัติศาสตร์อยู่เหมือนเดิม ที่ภาครัฐและองค์กรชาวนามีมาตรการช่วยเหลือชาวนามาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาชาวนาได้
เพราะเอาเข้าจริง หากจะปฏิรูปชาวนาให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่ลงถึงระดับรากฐานจริงจังแล้ว การปฏิรูปชาวนา อาจจะต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปตัวชาวนาเองก่อนก็เป็นได้
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 7 สิงหาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.