ในฐานะผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพคนหนึ่ง มีข้อสงสัยประการหนึ่งซึ่งวนเวียนอยู่ในใจของผู้เขียนมาหลายปี แต่ก็ยังหาคำตอบไมได้ ใคร ๆ ก็บอกว่าเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องดี เพราะเป็นระบบการผลิตที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และยาฆ่าแมลง คำนึงถึงสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่
และความเป็นธรรมของทั้งคนปลูก คนกิน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็พูดย้ำหลายครั้งผ่านสื่อว่า ให้ชาวนาและเกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำนา หันมาลดต้นทุน หันมาปลูกข้าวคุณภาพ แทนข้าวเคมี เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
จากกระแสการตื่นตัวของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจกับอาหารเพื่อสุขภาพและห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทิศทางการขยายตัวของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็มีอนาคตสดใส แต่เพราะเหตุใดในระยะเวลากว่า 20 ปี ที่มีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในสังคมไทย ตัวเลขพื้นที่การผลิตและจำนวนเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากระบบเกษตรเคมี มาสู่เกษตรอินทรีย์จึงมีไม่มากนัก และการขยายตัวก็เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น
จากข้อมูลการสำรวจของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน หรือกรีนเนท ที่พบว่า พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในประเทศไทย ลดลงจาก 219,309.66 ไร่ ในปี พ.ศ. 2554 เหลือ 205,385.81 ไร่ ในปี พ.ศ. 2555 (ลดลง 6.4%) แต่กลับมาฟื้นตัวเพิ่มขึ้นเป็น 213,183.68 ไร่ ในปี พ.ศ. 2556
ในช่วงเวลาดังกล่าว หากพิจารณาในส่วนของจำนวนแปลงเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ก็ลดลงจาก 7,499 แปลง ในปี พ.ศ. 2554 เป็น 7,189 แปลง ในปี พ.ศ. 2555 และขยับเพิ่มขึ้นเป็น 9,281 แปลง ในปี พ.ศ. 2556
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบสัดส่วนพื้นที่เกษตรเคมีและเกษตรทั่วไป กับพื้นที่เกษตรอินทรีย์โดยภาพรวม พบว่า ปี 2556 จากพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ 149 ล้านไร่ สัดส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ มีเพียงประมาณ 0.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.14 เท่านั้น โดยพื้นที่เกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่อันดับหนึ่ง ร้อยละ 58 เป็นพื้นที่ปลูกข้าว (125,730 ไร่) อันดับสองร้อยละ 20 เป็นพืชไร่ (42,865 ไร่) อันดับสามร้อยละ 10 เป็นผักและผลไม้ (21,529 ไร่) อันดับสี่ ร้อยละ 3 เป็นชาและกาแฟ (7,372 ไร่)
จะเห็นว่าสถานการณ์ภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่และจำนวนเกษตรกรที่ปรับเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวน้อยมาก
หากยังไม่กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่เป็นผลมาจากประเด็นทางนโยบายและการเมืองแล้ว เพื่อค้นหาคำตอบและไขข้อข้องใจข้างต้น ผู้เขียนขอนำข้อมูลบางส่วนจากรายงานการศึกษาวิจัย เรื่องรูปธรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรในภาคกลาง ของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน หรือโลโคลแอค มาแลกเปลี่ยน งานศึกษาชิ้นนี้ พบบทเรียนสำคัญจากรูปธรรมความสำเร็จขององค์กรเกษตรกรที่สามารถปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ได้ บทเรียนเหล่านี้คือ
การปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ในระดับบุคคล พบว่าทำได้ยากกว่าการปรับเปลี่ยนโดยมีกลุ่มและองค์กรเกษตรกรสนับสนุน หลายกรณีแม้ว่าจะเห็นตัวอย่างจากความสำเร็จของเกษตรกรรายบุคคลที่มีการปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์ เพราะประสบปัญหาสุขภาพ มีสารเคมีตกค้างในร่างกาย หรือมีบทเรียนสรุปได้ด้วยตนเองว่าเกษตรเคมีมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ผลผลิตขายได้ราคาต่ำ ทำให้ขาดทุนและมีหนี้สิน ฯลฯ แต่จะพบว่าแม้แต่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และเกษตรกรที่มีแปลงเกษตรข้างเคียงก็จะไม่ได้เปลี่ยนมาทำตาม นั่นเพราะการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เกษตรกรต้องมีความอดทน ใช้แรงงานหนักกว่า อาจมีปัญหารายได้ที่ลดลง ซึ่งต้องแบกรับในระยะเวลาของการปรับเปลี่ยน ดังนั้นแนวทางการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการส่งเสริมให้ทำระดับกลุ่มและองค์กรเกษตรกร ไม่ใช่ระดับบุคคล
ส่วนในเรื่องตลาดเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลักของผู้ทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ปริมาณความต้องการสินค้าอินทรีย์มีมากกว่ากำลังการผลิต แต่สิ่งที่ยากคือความสามารถในการบริหารจัดการตามแผนการผลิตที่วางเอาไว้ การวางแผนการผลิตและตลาดอินทรีย์จึงควรได้รับการส่งเสริมให้ทำในระดับกลุ่ม ไม่ใช่รายบุคคล โดยต้องมีการจัดกระบวนการให้ความรู้ในการผลิตข้าวและพืชผักอินทรีย์ การสนับสนุนการผลิตปัจจัยการผลิตให้ได้ด้วยตนเอง เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งมีการรับซื้อผลผลิต การประกันราคาผลผลติจากกลุ่มให้กับเกษตรกร เป็นต้น
นอกเหนือจากนี้ กลุ่มเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จ ส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับทั้งกับเอ็นจีโอ ภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด และมีการหนุนเสริมกันทั้งในด้านแนวคิด องค์ความรู้ การหาช่องทางและการต่อรองทางการตลาด รวมถึงการมีงบประมาณสนับสนุนเริ่มต้นที่จำเป็น เช่น สนับสนุนกองทุนหมุนเวียนของกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกกู้เงินจากกลุ่มในรูปแบบของวัสดุอุปกรณ์และปัจจัยการผลิตเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตในช่วงเริ่มต้น การทำงานของกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้ว มักขยายแนวทางของกลุ่มให้กว้างไปกว่าเรื่องเกษตรอินทรีย์ เช่น การมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การรักษาที่ดินทำกิน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก สำคัญที่สุดในทั้งหมดนี้ก็คือ การส่งเสริมและสนับสนุนกัน จะต้องนำไปสู่ความเข้มแข็งของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในการบริหารจัดการตนเองได้
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 31 กรกฎาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.