สถานการณ์สังคมไทยในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องพึ่งพิงลมฟ้าอากาศ และเป็นกลุ่มที่ขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิตมากที่สุด
ปัญหาที่ถาโถมพัดกระหน่ำเกษตรกรไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และการต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติขณะนี้ ทำให้เกษตรกรไทย ตกอยู่ในวงจรปัญหาที่หนักหน่วงรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับปากท้อง ความเป็นอยู่ สุขภาพของพวกเขา ผู้ที่ถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนทั้งประเทศ สุขภาพของคนเหล่านี้บ่งบอกให้เห็นถึงสุขภาพของประเทศไทยในขณะนี้ด้วย
ปัญหาภัยธรรมชาติที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่ในทุกพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถทำการผลิตได้ตามที่คาดหมาย ผลสืบเนื่องคือเกษตรกรจะไม่มีผลผลิตเพื่อขาย ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่มีเงินดำรงชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอแล้ว ยังไม่มีเงินที่ต้องใช้คืนหนี้สินเก่าที่อัตราดอกเบี้ยเดินหน้าตรงตามเวลาทุกวัน ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขาต้องหันไปหาแหล่งทุนกู้ยืมทั้งในและนอกระบบ เพื่อดำเนินชีวิตให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
เมื่อมองย้อนกลับไปดูปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ ที่มีปัญหาหนี้สินที่ซับซ้อนแต่เดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินจาธนาคารของรัฐและเอกชน หรือเจ้าหนี้นอกระบบ สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้ คือสภาพของเกษตรกรที่ไม่มีเงินหมุนเวียน ทั้งเพื่อประทังชีวิตและประกอบอาชีพในปัจจุบัน พวกเขาเหล่านี้คือผู้ที่ไม่มีหลักประกันความมั่นคง ไม่มีวุฒิการศึกษา ที่จะทำงานในระบบได้ พวกเขาต้องกลับไปเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ โดยไม่มีหน่วยงานรัฐ หรือนโยบายใดเข้าไปแก้ปัญหาให้เกษตรกรเหล่านี้ได้ตรงจุดจริงๆ
ขอยกกรณีตัวอย่างหนี้นอกระบบ ที่มีแนวโน้มจะส่งผลรุนแรงต่อเกษตรกรที่กำลังเผชิญภัยแล้งอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำสัญญา "ขายฝาก" กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด เกษตรกรหลายคนในภาวะที่ต้องเผชิญกับปัญหา พวกเขาต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ แม้ว่าเจ้าหนี้จะขูดรีดด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง และใช้กฎหมายเป็นช่องทางในการยึดที่ดิน ซึ่งเป็นทั้งชีวิตและฐานทรัพยากรของอาชีพไป เกษตรกรที่รู้ไม่เท่าทันก็จะตกเป็นเหยื่อของเจ้าหนี้เหล่านี้
รูปแบบการกู้เงินที่เจ้าหนี้นอกระบบคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด และสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างรุนแรง คือรูปแบบการ "ขายฝาก" ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา ๔๙๑ ถึงมาตรา ๕๐๒ ประเด็นว่า การขายฝากเป็นการซื้อขายอย่างหนึ่ง เมื่อทำสัญญาสมบูรณ์ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน(ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มักใช้ที่ดินในการขายฝาก) ตกอยู่แก่ผู้ซื้อฝากทันที (ปพพ.มาตรา ๔๙๑ "อันว่าขายฝากนั้นคือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ ตกไปยังผู้ซื้อโดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้") หากเปรียบเทียบกับรูปแบบการกู้ยืมโดยการ "จำนอง" ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๒ ถึงมาตรา ๗๔๖ ถือเป็นเรื่องของการประกันการชำระหนี้ เมื่อทำสัญญาสมบูรณ์ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังอยู่ที่ผู้จำนองอยู่ดี (มาตรา ๗๐๒ วรรคหนึ่ง "อันว่าจำนองนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนอง เป็นการประกันชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้จำนอง") การจำนอง จึงหมายถึงการประกันหนี้กู้ยืมและเกษตรกรยังมีสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินของตนเอง แต่การขายฝาก คือการซื้อขาย ที่กรรมสิทธิ์ตกอยู่กับผู้ซื้อฝากตั้งแต่ทำสัญญาซื้อขายแล้ว
เจ้าหนี้นอกระบบมักใช้ช่องทางกฎหมายขายฝากนี้ แม้ในสัญญาผู้ซื้อฝาก (เจ้าหนี้) เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ ๑๕ แต่ในความเป็นจริงมีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งเรียกกันว่า "ดอกเบี้ยนอกสัญญา" แม้จะขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราก็ตาม ด้วยอยู่ในสถานการณ์ที่พึ่งพาใครหรือหน่วยงานใดไม่ได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องจำยอมที่จะยอมรับเงื่อนไขที่เอาเปรียบเหล่านี้ เพื่อแลกกับเงินไปใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้อยู่รอดไปก่อน โดยหารู้ไม่ว่าอนาคตนั้น หากไม่สามารถหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ได้ พวกเขาจะสูญเสียที่ดินหรือทรัพย์ที่ขายฝากกับเจ้าหนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อแนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าหากเกษตรกร มีช่องทางและโอกาสที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่ช่วยเหลือพวกเขาได้ในภาวะที่ยากลำบาก และสามารถทำให้พวกเขาฟื้นฟูชีวิตและอาชีพเกษตรที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิต พวกเขาอาจจะไม่ต้องไปพึ่งเจ้าหนี้ที่เอาเปรียบหรือขูดรีด และหวังใช้กฎหมายเป็นช่องทางในการเอาที่ทำกินไป
แต่หากต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบ การให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำไปใช้หนี้นอกระบบ หรือการหยุดพักชำระหนี้(แต่อัตราดอกเบี้ยยังเดินต่อไป) อาจไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกต้องเท่านั้น หน่วยงานภาครัฐต้องจัดให้เกษตรกรมีกระบวนการเรียนรู้ มีกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมและพึ่งพิงตนเองได้ เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะความไม่มั่นคงที่กำลังเผชิญอยู่ปัจจุบัน และส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นดีขึ้น เมื่อสุขภาพของเกษตรกรไทยดีขึ้น จะเป็นตัวชี้วัดและส่งผลต่อสุขภาพของคนในประเทศให้ดียิ่งขึ้นด้วย
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.