เมื่อสถานการณ์ภัยแล้ง เวียนกลับมาเป็นปัญหาวิกฤตของชาวนาอีกครั้ง และกลายเป็นครั้งที่วิกฤตสาหัส ที่อาจส่งผลทำให้ชาวนาหลายพันรายต้องหมดเนื้อหมดตัว ขายนาทิ้ง เพราะไม่สามารถทำนาและหาเงินมาชดใช้หนี้ที่ค้างไว้ในฤดูการผลิตที่แล้วได้
พอเกิดสถานการณ์วิกฤตขึ้น และมีเสียงสั่งการจากหัวหน้ารัฐบาล ก็พลันเกิดเสียงเซ็งแซ่จากหน่วยงานราชการหลายกระทรวง ขานรับจะมีนโยบายช่วยเหลือชาวนาด้วยวิธีการต่างๆ ว่าด้วยการพักชำระหนี้บ้าง จะให้เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตเกษตรกรถึงสองหมื่นบาทบ้าง เร่งให้หน่วยงานรัฐใช้จ่ายเงินตามงบประมาณรายจ่ายปี 2558 บ้าง และแนวทางเก่าที่ใช้มาทุกยุคสมัยเมื่อเกิดปัญหากับชาวนา คือให้ ธ.ก.ส. และออมสินเร่งปล่อยสินเชื่อให้กับชาวนาเพิ่มขึ้น
ฟังดูห่างๆ เหมือนจะดี แต่หากติดตามการแก้ไขปัญหาของชาวนาอย่างใกล้ชิด จะทราบว่ามาตรการเหล่านี้ ล้วนเป็นมาตรการชั่วคราว ที่ช่วยเหลือชาวนาได้น้อยมากไปจนถึงไม่ได้เลยและส่งผลให้มีหนี้สินรุงรัง ที่สำคัญคือไม่เห็นวี่แววว่าชาวนาจะรอดพ้นวิกฤตครั้งสาหัสนี้ไปได้อย่างไร ถ้าไม่ต้องเอาที่นาที่ไร่ ไปจำนอง ขายฝากกับนายทุนกันมากขึ้น ในบางรายที่กำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เช่น ถูกฟ้องร้องยึดที่ดิน ที่นากำลังจะถูกขายทอดตลาด และถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่นา โอกาสในการซื้อที่นาคืนของคนกลุ่มนี้ย่อมดับวูบไปทันที เพราะฤดูกาลผลิตนี้ จะไม่มีรายได้เข้ามาเพื่อยื้อเวลาหนี้สินอีกต่อไป
อันที่จริงรัฐบาลควรจะรู้ว่าสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น และส่งผลกระทบกับชาวนายากจน เมื่อสาวไปจนถึงปลายทางชาวนากลุ่มนี้จะต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง หนึ่งในผลกระทบปลายทางเหล่านั้นที่รัฐควรให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือปัญหาชาวนาสูญเสียที่ดิน ต้องขายที่ดินเพื่อชดใช้หนี้ให้กับสถาบันการเงิน เนื่องจากฤดูการผลิตนี้ โอกาสในการทำนาของชาวนาเหลืออยู่น้อยเต็มที
นอกเหนือจากการมีโครงการพักชำระหนี้แล้ว เพื่อที่จะบรรเทาปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง รัฐบาลจึงควรมีโครงการให้ ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ชะลอการขายทอดตลาดที่ดินของชาวนาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลรุนแรงกับชาวนาในวงกว้าง ถึงกับต้องสูญเสียที่ดินในที่สุด
ในทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์วิกฤตกับชาวนา ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงขึ้นราคา ราคาข้าวตกต่ำ ไม่มีโครงการรับจำนำข้าว หรือแม้แต่ราคาอาหารแพง และวิกฤตอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ชาวนาและเกษตรกรยากจนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม
รัฐควรจะมองให้เห็นถึงปัญหาที่สะสมมานานของชาวนาว่ามีอะไรบ้าง ที่ทำให้ชาวนาและเกษตรกรยังคงอ่อนแอและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มาตรการช่วยเหลือชาวนาแบบชั่วคราวที่รัฐบาลใช้อยู่เป็นประจำ เช่น โครงการพักชำระหนี้ โครงการใช้จ่ายตามงบประมาณรัฐบาล หรือโครงการใหม่ๆ อย่างการขอความร่วมมือภาคเอกชน ลดราคาปุ๋ย ยา และค่าเช่านา ทำได้แค่แก้ปัญหาชั่วคราวระยะสั้นเท่านั้น พอถึงสถานการณ์วิกฤตรอบใหม่ ก็ต้องนำกลับมาใช้อีกซ้ำซาก เพราะไม่ใช่มาตรการที่ทำให้ชาวนาสามารถตั้งหลักทางเศรษฐกิจ และมีชีวิตที่มั่นคงยั่งยืนได้
แนวทางที่ยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาชาวนาก็คือ รัฐควรจัดตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับชาวนา ยามเมื่อเกิดภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม โรคและแมลงระบาด ผลกระทบของภัยพิบัติเหล่านี้ จะได้ไม่ส่งผลรุนแรงกับครอบครัวของชาวนาถึงขั้นระดับหมดตัว หรือไม่สามารถทำการผลิตได้อีกต่อไป เงินกองทุนเหล่านี้ควรมาจากเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตข้าว การแปรรูป การค้าและการส่งออกข้าว ที่เคยสร้างผลกำไรจำนวนมากให้กับคนหลายกลุ่มในสังคม ทั้งพ่อค้ารับซื้อข้าว เจ้าของโรงสี พ่อค้าปลีกและผู้ส่งออกข้าว โดยการจ่ายเงินประกันภัยพิบัติควรอยู่ในระดับสมน้ำสมเนื้อคุ้มกับการลงทุนของชาวนา ไม่ใช่การจ่ายเพียงเล็กน้อย เพียงเพื่อเรียกได้ว่า จ่ายแล้วเท่านั้น
การสร้างภูมิคุ้มกันอีกด้าน ที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้ชาวนาสามารถตั้งหลักทางเศรษฐกิจได้ คือการตั้งกองทุนเงินกู้ยืม เพื่อการลงทุนทำนาแบบปลอดดอกเบี้ย โดยกองทุนอาจให้เงินกู้ระยะสั้น ในวงเงินจำกัดที่สามารถนำไปลงทุนทำนาได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือและให้โอกาสอย่างจริงจังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาวนา เพราะต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันเงินกู้จากสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน มีเงื่อนไขดอกเบี้ยและค่าปรับที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาวนา เพราะยามเกิดภัยธรรมชาติ ชาวนายังคงต้องชำระหนี้ และดอกเบี้ยที่อาจทบเป็นเท่าตัว โอกาสฟื้นตัวจึงมียาก
แนวทางสุดท้ายในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชาวนาคือการประกันราคาผลผลิตข้าวให้กับชาวนา โดยการประกันราคาผลผลิตนี้ ควรดำเนินควบคู่ไปกับการวางแผนการผลิตร่วมกับชาวนาด้วย ข้อเท็จจริงก็คือ ชาวนาไทยจะมีความมั่นคงทางการผลิตได้อย่างไร หากเมื่อทำนาแล้ว ไม่รู้จะเอาข้าวไปขายที่ไหน ไม่รู้จะขายได้ในราคาเท่าไร และไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับชะตากรรมถูกกดและถูกโกงราคาข้าวไปอีกนานแค่ไหน ซึ่งภาระการประกันราคาผลผลิตนี้ คือหน้าที่ของรัฐบาล แต่เพื่อให้เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน รัฐบาลจึงต้องวางแผนการผลิตร่วมกับชาวนา และประเมินให้ได้ว่าในแต่ละฤดูการผลิต ชาวนาจะผลิตข้าวจำนวนมากเท่าไร
การสร้างภูมิคุ้มกัน และแนวทางที่ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาชาวนานั้นมีอยู่ วิกฤตภัยแล้งครั้งนี้ รัฐจึงควรพิจารณาและทบทวนอย่างจริงจังว่า มาตรการช่วยเหลือชาวนาที่กำลังจะออกมานั้น จะมีผลทำให้ชาวนาแข็งแรงและมั่นคงทางเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า หรือเพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราว และรอวันให้วิกฤตเหล่านี้ วนซ้ำกลับมาให้แก้ใหม่ในวันข้างหน้าเหมือนเช่นเดิม
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 17 กรกฎาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.