ยิ่งอายุมากขึ้น ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าโลกของเราเริ่มดำรงชีวิตด้วยความยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ สภาวะโลกร้อน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ โดยคนยากจน เกษตรกรรายย่อย และคนด้อยโอกาส คือประชาชนกลุ่มแรกที่มักได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งต่อชีวิตและเศรษฐกิจ
ดังรายงานข่าวใหญ่ที่นำความหดหู่และสะเทือนใจมาให้กับคนทั่วโลก คือ ในเดือนพ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมามีคนอินเดียและปากีสถานเสียชีวิตไปแล้วกว่า 3,000 คน จากปัญหาคลื่นความร้อนรุนแรง โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนยากจนที่หาเช้ากินค่ำและต้องทำงานกลางแจ้ง เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นหนักในบ้านเราอยู่ในขณะนี้ ตอนนี้มีชาวนาและเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากต้องสูญเสียเงินและขาดทุนจากการลงทุนเพาะปลูกรอบแรกและพืชผลแห้งตายเพราะขาดน้ำ แต่ชาวนาและเกษตรกรก็ต้องยอมเสี่ยงกับการขาดทุน เพราะไม่มีทางเลือกหากไม่ได้ทำการผลิตก็จะไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว
พื้นฐานความรู้และความเข้าใจต่อปัญหา นำมาซึ่งแนวทางออกในการจัดการปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม ในสังคมไทยมองปัญหาภัยแล้งอย่างลึกซึ้งและเข้าใจมากน้อยเพียงใด สามารถตรวจสอบได้จากผลการสำรวจความเห็นของประชาชนล่าสุด ทั้งสวนดุสิตโพลล์และนิด้าโพลล์ระบุผลสำรวจออกมาในแนวทางเดียวกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80 เห็นว่าสาเหตุหลักของปัญหาภัยแล้งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า โดยความเห็นนี้ก็สอดคล้องตรงกับคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในระหว่างเดินทางไปประชุมครม.สัญจรและตรวจเยี่ยมพื้นที่ภาคเหนือเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า "สาเหตุของภัยแล้งคือการตัดไม้ทำลายป่า"
ในทางวิชาการ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้ความหมายว่า ภัยแล้ง หมายถึง ความแห้งแล้งของลมฟ้าอากาศ อันเกิดจากการที่มีฝนน้อยกว่าปกติ หรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นระยะเวลานานกว่าปกติ และครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ขาดน้ำ ทำให้ไม่เจริญเติบโตตามปกติเกิดความเสียหาย และความอดอยากทั่วไป ความแห้งแล้งเป็นภัยธรรมชาติประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ภาวะฝนทิ้งช่วง หมายถึง ช่วงที่มีปริมาณฝนตกไม่ถึงวันละ 1 มิลลิเมตรติดต่อกันเกิน 15 วัน โดยเดือนที่มีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงสูงคือ เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ช่วงกลางฤดูฝน ภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นหรือบางบริเวณ บางครั้งอาจครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วประเทศ จากสถิติในอดีตภาวะภัยแล้งเกิดขึ้นมากในช่วงปี 2510-2536 หรือรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่เนื่องจากฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝนเป็นระยะเวลายาวนานกว่าปกติ ตั้งแต่กรกฎาคมถึงกันยายน
ในส่วนของสาเหตุของการเกิดภัยแล้ง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภัยแล้งสำหรับประเทศไทย มีทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ การตัดไม้ทำลายป่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดภัยแล้ง อย่างไรก็ตามการเกิดภัยแล้งมิใช่เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียวแต่เกิดจากหลายสาเหตุปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ 1. เนื่องจากสภาวะอากาศในฤดูร้อนที่ร้อนมากกว่าปกติ 2. เนื่องจากการพัดพาของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ 3. ความผิดปกติของตำแหน่งร่องมรสุม ทำให้ฝนตกในพื้นที่ไม่ต่อเนื่อง 4. ความผิดปกติ เนื่องจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยน้อยกว่าปกติ 5. การเปลี่ยนแปลงความสมดุลของพลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ เช่น การเผาพลาสติก น้ำมัน และถ่านหิน ทำให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซน (การทำลายชั้นโอโซน) 6. ผลกระทบจากปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจก เนื่องจากส่วนผสมของบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ ลอยขึ้นไปเคลือบชั้นล่างของชั้นโอโซน ทำให้ความร้อนสะสมอยู่ในอากาศใกล้ผิวโลกมากขึ้น ทำให้อากาศร้อนกว่าปกติ 7. การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และ 8. การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของภูมิอากาศ เช่น ฝน อุณหภูมิ และความชื้น (ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม)
จะเห็นได้ว่าความรู้ความเข้าใจของสังคมไทยกับหลักวิชาการเรื่องสาเหตุภัยแล้ง ยังเป็นความรู้เพียงบางส่วนหรือความรู้แบบครึ่งๆกลางๆ หลายครั้งที่เกิดปัญหาภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ขึ้น เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ทัศนคติและความเข้าใจของสังคม โดยเฉพาะคนชั้นกลาง ภาครัฐและผู้มีอำนาจ มักจะเพ่งเล็งไปที่ต้นเหตุปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าว่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ทำให้แนวทางการจัดการปัญหาขาดความรอบด้าน ไม่ตรงจุด และบางครั้งแนวทางแก้ปัญหาเหล่านั้นกลับไปก่อปัญหาใหม่ ซ้ำเติมคนยากจน เกษตรกรรายย่อย และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นไปอีก
ตัวอย่างเช่นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า แก้ปัญหาโลกร้อน แก้ปัญหาภัยแล้ง แก้ปัญหายางพาราตกต่ำ รัฐได้ออกนโยบายการตัดฟันต้นยางพาราในพื้นที่ของเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ นโยบายอพยพคนจนออกจากป่า ในขณะที่ผู้ก่อผลกระทบภาคส่วนอื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยเหมือนกันนั่นคือคนในเมือง ภาคธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรม กลับไม่ต้องรับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมในการลดปัญหา แต่ยังคงดำเนินวิถีชีวิต บริโภคเผาผลาญพลังงาน และปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนแบบเข้มข้นเหมือนเดิม
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 10 กรกฎาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.