เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมาได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่ห้องประชุมกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI จัดโดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น อาทิเช่น ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง อัยการอาวุโส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารต่างๆ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันวิชาการ
วัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คือเพื่อเสริมสร้างกลไกทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชน อันเนื่องมากจากปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้นอกระบบที่เก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด รวมถึงการที่เจ้าหนี้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้และสร้างผลกระทบต่อชีวิตลูกหนี้อย่างแสนสาหัส เช่น การแอบแฝงการกู้เงินโดยใช้นิติกรรม หรือแอบแฝงด้วยธุรกิจที่มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรูปแบบของการให้กู้นั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ จึงหยิบยกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลา 83 ปี มาพิจารณาเพื่อปรับแก้เนื้อหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความรุนแรงเรื่องหนี้นอกระบบในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหานี้
การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เริ่มต้นจากการนำเสนอผลกระทบของหนี้นอกระบบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและคนยากจน โดยตัวแทนจากฝ่ายวิชาการ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนสะท้อนภาพปัญหาว่า ปัญหาหนี้นอกระบบส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องสูญเสียที่ทำกิน กลายเป็นเกษตรกรนาเช่า เนื่องจากในเข้าใจกฎหมายการกู้หนี้ และสัญญาเงินกู้ที่ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบ การแก้ปัญหาควรพิจารณาแก้ไขทั้งใน 3 ระดับ คือต้นทาง กลางทาง และปลายทาง การเสนอกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราด้วยการเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้ แม้จะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง แต่จะยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง โดยการแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือการทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของหนี้นอกระบบว่าเหตุใดประชาชนจำนวนมากจึงต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้หนี้นอกระบบ ทั้งที่มีแหล่งเงินกู้สถาบันการเงินในระบบอยู่แล้วจำนวนมาก ส่วนการแก้ปัญหาที่กลางทางคือเมื่อเกษตรกรกู้หนี้นอกระบบไปแล้ว เกษตรกรถูกหลอกลวงและฟ้องร้องเพื่อยึดที่ดิน แต่ไม่มีหน่วยงานราชการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบเจ้าหนี้นอกระบบ ต้องสูญเสียที่ดินไปโดยไม่ชอบธรรม
งานศึกษาของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้นอกระบบ มีความซับซ้อนและเป็นปัญหาหาเชิงโครงสร้างและเกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำของสังคม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ปัญหาธนาคารของรัฐและเอกชนที่มีมุมมองเรื่องหนี้สิน ที่ไม่เอื้อต่อคนจนและผู้เดือดร้อน หรือการเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคมของคนจน พฤติกรรมการบริโภคเกินความจำเป็นของกระแสสังคมโดยรวม พฤติกรรมของกลุ่มเจ้าหนี้ที่บีบบังคับลูกหนี้ด้วยวิธีต่างๆ และกฎหมายที่เจ้าหนี้ใช้เป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบคนจน
เนื้อหาของกฎหมายที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมากคือ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475 นั้น ไม่เข้ากับสถานการณ์หนี้นอกระบบในปัจจุบันที่ปัญหารุนแรงและซับซ้อนขึ้น การแก้ไขรายละเอียดตามมาตราจึงต้องให้ครอบคลุมรูปแบบและวิธีการเลี่ยงกฎหมายของเจ้าหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้ ที่เป็นกลุ่มอิทธิพลและมีธุรกิจที่มีความซับซ้อน เช่น ร้านท้อง ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แอบแฝงการให้กู้เงิน รวมถึงควรต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพที่สามารถเอาผิดกับเจ้าหนี้ที่ทำผิดได้
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ที่ประชุมบางส่วนมองว่า หากมีกฎหมายที่ปราบปราบเจ้าหนี้นอกระบบที่มีบทลงโทษรุนแรง เจ้าหนี้อาจไม่ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนักคือ หากจะแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง รัฐจะต้องคิดหาทางออกด้วยว่า ทำอย่างไรคนยากจนจึงจะสามารถมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำรงชีวิต หรือเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม จากสถาบันที่มีกลไกตรวจสอบได้ และไม่มีแนวคิดที่จะหาผลประโยชน์จากลูกหนี้ แต่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ด้อยโอกาสและคนจน ถ้ารัฐมีช่องทางให้ประชาชนและคนยากจนสามารถเลือกได้ พวกเขาก็อาจจะไม่ต้องพึ่งพิงหนี้นอกระบบที่มีวิธีการทวงหนี้มหาโหด และอัตราดอกเบี้ยเกินกำลังรับไหว อย่างที่เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.