"ก่อนหน้านี้เราพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่ๆมากเกินไป จึงทำให้เราละเลยช่องทางของการลดภาระหนี้สิน แม้จะเป็นเพียงช่องเล็กๆ แต่มันคือทางออกหนึ่ง"
เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ "สัญญา ยะคะเสม" สมาชิก "กลุ่มพัฒนาเกษตรกร หมู่ 7" อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา อีกหนึ่งเกษตรกรที่มีภาระผูกพันอยู่กับปัญหาหนี้สินและที่ดินทำกินอันเกิดมาจากความผิดพลาดของการวางแผนบริหารจัดการแปลงเกษตร
ผมเริ่มการพูดคุยกับสัญญาจากคำถามที่ว่า "มีช่องทางไหนที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด" คำถามนี้เป็นที่มาของคำตอบด้านบนที่สัญญาคุยกับผม แต่ก่อนที่จะไปถึงคำตอบนั้น สัญญาได้เล่าถึงต้นสายปลายเหตุก่อนที่จะมีแนวคิดนี้ขึ้นมา
สัญญาเล่าถึงจุดเริ่มของหนี้สินก้อนหนึ่งก่อนจะกลายมาเป็นภาระผูกพันในปัจจุบันคือ หนี้สินที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2552 ซึ่งกู้จากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน หรือ กชก. จำนวนหนี้ 420,000 บาท โดยมีโฉนดที่ดินเนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินมรดกครอบครัวเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
พอได้รับคำตอบแบบนี้ทำให้คำถามหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวผมทันที เนื่องจากสิ่งที่สัญญาเล่าให้ผมฟังก่อนหน้านี้คือ แปลงเกษตร 3 แปลงที่ใช้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับปลูกมันสำปะหลัง และปลูกพืชผักอื่นๆ เช่น ไผ่(ขายหน่อ) น้ำเต้า ถั่วลิสง เห็ด(เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐาน) บวบหอม บวบเหลี่ยม มะรุม มะระขี้นก มะเขือ พริกขี้หนู ฟักทอง ข่า ตะไคร้ มะขาม แตงโม และไม้ใช้สอยอื่นๆ พืชผักเหล่านี้สัญญาบอกว่าปลูกแบบไม่ได้ใส่ใจมาก แทบไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แรงงานเรา อุปกรณ์ของเราเอง ขายก็ขายเอง ยกเว้นตอนเก็บเกี่ยวเท่านั้น คำถามที่ผมพูดถึงก็คือ แล้วเงินกู้ก้อน 402,000 บาท นำไปใช้สำหรับอะไร ท้ายที่สุดผมจึงได้คำตอบจากสัญญาว่า จริงๆ แล้วหนี้ก้อนหนี้กู้มาเพื่อใช้หนี้สินก้อนเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้า ที่เคยกู้จากกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนหมู่บ้านมาลงทุนทางการเกษตร ผมได้รับคำตอบชัดเจนครับ ชัดเจนจนไม่กล้าถามต่อไป ในใจสงสารคู่สนทนาที่อยู่เบื้องหน้าผมเหมือนกันที่ต้องตอบคำถามแบบนี้ของผม
ผมพักคำถามเรื่องของสัญญาไว้ชั่วครู่ แต่ค้างคำถามต่อไปไว้ในใจตัวเองครับว่า การกู้หนี้เพื่อใช้หนี้ก้อนเดิม หรือการกู้หนี้ก้อนใหม่เพื่อใช้หนี้เก่าในลักษณะหมุนวนกันไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับสัญญานี้เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่
นอกจากหนี้สินก้อนนี้แล้ว ผมถามถึงหนี้สินก้อนอื่นๆของสัญญา ซึ่งคำตอบที่ผมได้รับทำผมอึ้งไม่น้อยเหมือนกัน เนื่องจากหนี้สินที่มีอีกสองก้อนที่เหลือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ เมื่อรวมกันแล้วใหญ่กว่าหนี้ก้อนนี้อีกประมาณ 10 เท่า คำตอบนี้นี่เองครับ เป็นที่มาที่ไปของท่อนคำข้างต้น เมื่อผมถามว่า "มีช่องทางไหนที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด" สัญญาเริ่มต้นคำตอบแบบในตอนต้น แล้วต่อด้วยคำตอบที่เสมือนหนึ่งข้อเสนอสำหรับเกษตรกรด้วยกันที่พอสรุปได้ก็คือ
ถ้าจะแก้ไขปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินของตัวเองต้องแก้แบบคู่ขนาน หมายถึง เกษตรกรต้องแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินของตนเองออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก ใช้สำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ที่เป็นเงินก้อนให้กับครอบครัว ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจากแปลงเกษตรส่วนแรกนี้จะถูกใช้สำหรับชำระหนี้สินของครอบครัว ส่วนที่สอง ใช้สำหรับปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้จากการขายผลผลิตเป็นรายได้รายวัน
ในส่วนของแปลงเกษตรของสัญญาเอง มีรายได้หลักหรือรายได้ที่เป็นเงินก้อนจากการปลูกมันสำปะหลังสำหรับใช้หนี้ก้อนใหญ่ของครอบครัว และมีรายได้รายวันจากแปลงเกษตรแบบหลากหลายสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน
หลังพูดคุยกันเสร็จ สัญญาพาผมเดินสำรวจแปลงเกษตรของตัวเอง พร้อมกับเล่าถึงช่องทางที่ตัวเองเริ่มมองเห็นแล้วว่า ทางออกที่ไม่เคยเห็นเลยก็คือ การที่เรามุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายมากไป จนละเลยที่จะมองหาช่องทางอื่นในการแก้ไขปัญหาที่สามารถทำไปควบคู่กันได้ ซึ่งช่องทางที่ว่านั้นก็คือสิ่งที่ตัวเองกำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้...... คงได้แต่เอาใจช่วยและคอยเชียร์ครับ
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 12 มิถุนายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.