ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่พี่น้องชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ ต้องประสบมานานชั่วนาตาปี นับตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์การส่งออกข้าวจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เพราะถูกกดราคารับซื้อข้าวเปลือก ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ตัวแทนชาวนาจากทั่วประเทศ กว่า 200 คน ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝากให้นายกฯ ช่วยหาตัวการว่าใครได้ประโยชน์จากการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาถูก ในขณะที่ผู้บริโภคต้องซื้อข้าวสารกินในราคาแพง
แน่นอนว่าผู้ตกเป็นจำเลยของสังคมในเรื่องนี้ หากมองผิวเผินผู้ถูกเพ่งเล็งอันดับหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการค้าข้าวถุงในประเทศ แต่หากมองให้ลึกซึ้งถึงโครงสร้างผลประโยชน์และห่วงโซ่อุปทานข้าว ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ผู้ได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการทั้งหมดไม่ได้มีเพียงเท่านั้น แต่ยังมีพ่อค้าปุ๋ยและยา พ่อค้าเมล็ดพันธุ์ พ่อค้าเครื่องจักรกลการเกษตร เจ้าของที่ดิน/ผู้ให้เช่านา นายทุนผู้ปล่อยเงินกู้ พ่อค้าคนกลาง โรงสี ผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศและผู้ส่งออก ห้างร้านขนาดใหญ่และร้านค้าย่อย มีการขูดรีดเอากำไรเกินควรจากชาวนาแล้วไปขูดรีดกับผู้บริโภคอีกต่อหรือไม่
แม้ว่านายกฯได้แสดงความเป็นห่วงและเห็นใจชาวนาที่ถูกกดราคาขายข้าวเปลือก ประกอบกับสาเหตุของปัญหาราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาสต๊อกข้าวของรัฐบาล 17 ล้านตัน จากโครงการรับจำนำข้าวในอดีต มากดราคาข้าวเปลือกที่ออกมาใหม่ แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสต๊อกข้าวจากโครงการรับจำนำของรัฐ เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นมาโดยตลอด ดังนั้นแนวทางมาตรการที่รัฐบาลกำลังพยายามช่วยเหลือ เช่น มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการขายข้าวสารราคาถูกให้กับคนจนเพื่อแข่งขันกับพ่อค้าข้าว อาจจะยังเกาไม่ถูกที่คันหรือไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของเรื่องนี้อย่างแท้จริง
การที่จะทำความเข้าใจและคลายข้อสงสัยของชาวนา ต้องยอมรับว่าบางส่วนเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกของความไม่เป็นธรรม ชาวนาส่วนใหญ่รู้สึกว่าเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดมาโดยตลอด นั่นเพราะจากปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจริงในสังคม อาชีพชาวนาส่วนใหญ่ทำไมจนลงๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการรวยขึ้นๆ มันน่าจะมีความผิดปกติเกี่ยวการกระจายผลประโยชน์ของการตลาดข้าว เช่น ปี 2556 ช่วงโครงการรับจำนำข้าว ราคาข้าวเปลือก 15,000 ต่อตัน ราคาข้าวสารก็แพงขึ้น แต่ปัจจุบันปี 2558 ราคาข้าวเปลือกลดลงเกินครึ่งเหลือ 7,000 บาทต่อตัน แต่ราคาข้าวสารกลับไม่ลดลง
จากงานศึกษาเรื่องทางเลือกการตลาดข้าวของชาวนาฯ โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ปี 2555 พบว่าในระบบตลาดข้าวทั่วไป ความสัมพันธ์ทางการตลาดข้าวเปลือกอยู่ภายใต้โครงสร้างการกำหนดราคาข้าวระดับโลก ซึ่งผู้ที่อยู่บนสุดของกระบวนการ คือ ผู้ส่งออก มีอำนาจมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นในห่วงโซ่อุปทานในการกำหนดราคา ขณะที่ชาวนาซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวแต่อยู่ในตำแหน่งล่างสุดของกระบวนการต้องเป็นผู้รับราคาที่ถูกกำหนดมาเพียงอย่างเดียว โรงสีเป็นตัวละครสำคัญในการแปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารจึงเป็นผู้เชื่อมและส่งผ่านกลไกราคาในระบบการค้าข้าวจากระดับราคาส่งออกกับระดับราคาที่ไร่นาเข้าด้วยกันผ่านการคำนวณบวกลบต้นทุนทางการผลิตและการตลาดรวมถึงผลกำไรของตน ทำให้ผลประโยชน์จากการค้าข้าวที่ชาวนาได้รับไม่ได้ขึ้นอยู่กับการส่งผ่านราคาจากกลไกตลาดจากบนลงล่างเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับบริบทและลักษณะความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างชาวนากับโรงสีในฐานะคู่สัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนทางการตลาดด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่างานศึกษาข้างต้นจะระบุว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดราคาข้าว อันดับหนึ่งคือ ผู้ส่งออกข้าว อันดับสองคือ โรงสี ทั้งสองส่วนนี้อยู่ในขั้นกลางและปลายทางของการผลิต นัยยะที่บอกว่าการกระจายผลประโยชน์มีความเป็นธรรมหรือไม่ ทำไมชาวนาถูกกดราคารับซื้อข้าวเปลือกราคาถูก และขายข้าวสารราคาแพงให้กับผู้บริโภค อาจจะต้องพิจารณาถึงผู้ได้รับผลประโยชน์จากต้นทางการผลิตร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะมองไม่เห็นไอ้โม่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ผู้ได้รับประโยชน์จากสัดส่วนต้นทุนการผลิตหลักของชาวนานั่นคือ พ่อค้าปุ๋ยและยา พ่อค้าเครื่องจักรกลการเกษตร เจ้าของที่ดิน/ผู้ให้เช่านา สัดส่วนรายได้และผลกำไรที่ชาวนาได้รับสุทธิ จากราคาข้าวสารที่ผู้บริโภคซื้อหามารับประทานในราคา 1 กิโลกรัม ประมาณ 40-80 บาท หรือข้าวถุง 5 กิโลกรัม ประมาณ 200-400 บาท เมื่อต้องหักลบจากต้นทุนการผลิตและกำไรส่วนของผู้ประกอบการ โรงสี พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าข้าวถุง ร้านค้าจัดจำหน่าย ต้นทุนการผลิตส่วนที่เกษตรกรต้องจ่าย(ผลกำไรของธุรกิจการเกษตร) แล้วเหลือเป็นรายได้หรือผลกำไรที่แท้จริงที่ตกถึงมือชาวนาน้อยมาก
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มองว่าตลาดค้าข้าวอาจถือเป็นระบบตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เพราะไม่มีผู้ใดมีอิทธิพลในการกำหนดราคาได้มากกว่าผู้อื่น อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงระบบตลาดข้าวถือเป็นสินค้าอ่อนไหวทางการเมือง เพราะมักมีการแทรกแซงจากนโยบายรัฐ นักการเมือง นายทุน ผู้มีอิทธิพลและพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อรัฐเล็งเห็นว่ากลไกตลาดมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น รัฐอาจจะต้องดำเนินมาตรการเชิงนโยบายบางอย่างเพื่อเข้ามาแทรกแซงแบบชั่วคราว ระมัดระวังไม่เป็นภาระหรือส่งผลกระทบในระยะยาว และอาจจะต้องทำมากไปกว่าการออกมาป้องปรามนายทุน และเห็นใจชาวนาผู้ด้อยโอกาส
ภายใต้แนวนโยบายและแนวคิดทุนนิยมเสรีที่เชื่อว่าการตลาดแข่งขันเสรีจะจัดปรับความสัมพันธ์ให้เกิดความสมดุลของการกระจายประโยชน์ในที่สุด และเพื่อสร้างให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ อำนาจต่อรองของกลุ่มต่างๆ ต้องมีอย่างเท่าเทียม ดังนั้นรัฐจึงควรให้แต้มต่อกับชาวนาและเกษตรกรรายย่อยผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ล่างสุดของโครงสร้างตลาดข้าว การเสริมความเข้มแข็งให้กับขบวนการชาวนา การพัฒนายกระดับศักยภาพด้านการผลิต การลดต้นทุน และการกระจายผลผลิตข้าวของชาวนา การสร้างทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าผลิต เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ควรมีมาตรการและกลไกการดูแลสัดส่วนโครงสร้างผลประโยชน์เรื่องข้าวของผู้ประกอบการและนายทุนตั้งแต่ระดับต้นทาง กลางทาง และปลายทางการตลาดข้าวไม่ให้เอารัดเอาเปรียบชาวนามากเกินควร
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 19 มิถุนายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.