หนึ่งในปัญหาสำคัญของเกษตรกรในประเทศไทยคือการสูญเสียที่ทำกิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตของระบบเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุด เกษตรกรใช้ที่ดินในการดำรงชีวิตทั้งเพื่อประกอบกิจกรรมในครอบครัวและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ที่ดินจึงเป็นทั้งปัจจัยในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่ไม่อาจแยกขาดจากกัน
จากข้อมูลสำรวจการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556 พบว่า พื้นที่เกษตรกรรม 149.24 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เช่าเกินครึ่งหรือ 77.64 ล้านไร่ อีก 71.59 ล้านไร่เป็นที่ดินของตัวเกษตรกรเอง แต่ที่ดินของเกษตรกรในกลุ่มนี้ 29.72 ล้านไร่เป็นที่ดินติดจำนอง และอีก 1.15 แสนไร่อยู่ระหว่างการขายฝาก หมายความว่าเกษตรกรกว่าร้อยละ 70 อยู่ในสภาพไม่มีความมั่นคงในที่ดินของตัวเอง ไม่มีที่ทำกิน ต้องเช่าที่ดิน และที่ดินถูกจำนอง ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของที่ดินเพื่อการเกษตรนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกร แต่กลับถูกถือครองโดยนายทุนหรือคนที่ไม่มีอาชีพทำการเกษตร
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรที่สำคัญคือ ปัจจัยหนี้สินในภาคครัวเรือนของเกษตรกร เส้นทางสูญเสียที่ดินของเกษตรกรเกี่ยวข้องกับการเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางสังคมที่พวกเขาควรจะได้รับ หรือเข้าไม่ถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่รัฐจำเป็นต้องจัดหาให้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ ปัจจุบันนี้กลับกลายเป็นว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรนั้น เกษตรกรต้องดิ้นรนหามาด้วยตนเอง ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยสูงที่เกษตรกรต้องลงทุนเพื่อความหวังในการมีชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า เช่น การลงทุนไปกับการศึกษาของลูกหลาน การซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด การเข้าสู่ค่านิยมใหม่ที่ถูกหล่อหลอมจากระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่รัฐสนับสนุน รวมถึงการทำการเกษตรที่เน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การก่อหนี้โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร
มุมมองการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในสังคมไทย ยังมองในมิติเดียวว่าปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ที่ผู้ก่อหนี้เป็นผู้กระทำเองและควรจะต้องรับผลของปัญหาด้วยตนเอง การมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของโครงสร้างสังคมที่เกี่ยวพันกับปัญหาหนี้ของปัจเจกบุคคล ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมาของภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ที่ผ่านมาการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากกรณีศึกษาผลกระทบของหนี้นอกระบบกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรพบว่า ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่เกิดจากการทำสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมกับนายทุน ซึ่งในส่วนนี้เกี่ยวข้องทั้งกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายการขายฝาก กระบวนการในการฟ้องร้องคดีความและการประนีประนอมยอมความ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายและกระบวนการเหล่านี้ ในขณะที่นายทุนเงินกู้นอกระบบซึ่งเอาเปรียบเกษตรกร สามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับ และยึดที่ทำกินของเกษตรกรอย่างชอบธรรมได้
เมื่อเกิดปัญหาความไม่ยุติธรรมขึ้น เกิดคดีความฟ้องร้องระหว่างเกษตรกรกับนายทุนเงินกู้นอกระบบ ในช่วงเวลาที่เกษตรกรได้รับผลกระทบเหล่านี้ กลับไม่มีกลไกของรัฐในการเข้าไปช่วยเหลือในระหว่างการดำเนินคดี หรือแม้แต่ตรวจสอบสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ในกระบวนการต่อสู้คดีในชั้นศาล เกษตรกรยากจนที่ขาดความรู้จึงเสียเปรียบคู่กรณีนายทุนที่อยู่ในสถานภาพที่เหนือกว่าทั้งด้านความรู้ทางกฎหมาย อำนาจ และอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้คือสาเหตุที่บีบรัดให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินให้แก่นายทุน
แนวทางแก้ไขปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกร คงไม่สามารถมองเป็นเส้นตรง เพียงแค่ว่าหากเกษตรกรเหล่านี้ไม่ไปกู้หนี้ ก็จะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ และไม่ต้องสูญเสียที่ทำกิน เพราะปัญหานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของเกษตรกรหนึ่งคนที่ไปกู้หนี้ยืมสินด้วยความพึงพอใจหรือจำเป็นเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่าทำไมเกษตรกรจำนวนมากในสังคมไทยถึงต้องไปกู้เงินนอกระบบ และจำเป็นต้องพึ่งพิงนายทุนที่คิดดอกเบี้ยในอัตรามหาโหดกับพวกเขา อะไรคือแรงกดดัน และทำไมพวกเขาถึงไร้ที่พึ่งพิง ต้องอยู่ในสภาพจำยอมกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึงขนาดนั้น เกษตรกรเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ไม่มีกลไกและสถาบันที่ช่วยเหลือพวกเขายามเดือดร้อนได้จริง พวกเขาถึงต้องพึ่งพิงนายทุนเงินกู้นอกระบบใช่หรือไม่ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วภาครัฐได้เข้าไปช่วยเหลือเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรสูญเสียทรัพย์สินและที่ดินอย่างไร
สภาพปัญหาเกษตรกรสูญเสียที่ทำกิน มีหนี้สินท่วมตัวในสังคมไทยไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจก แต่เป็นภาพสะท้อนชะตากรรมของคนที่มีอาชีพเกษตรกร และคุณภาพชีวิตของคนชนบททั้งประเทศ และสะท้อนไปถึงความสัมพันธ์ของคนในสังคมไทยที่อยู่ร่วมกัน
หากไม่มีการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แน่นอนว่าการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างไปถึงโครงสร้างของสังคมในภาพรวม และสุดท้ายคนที่จะเสียผลประโยชน์มากที่สุดก็คือคนส่วนใหญ่ของประเทศนั่นเอง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 5 มิถุนายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.