พื้นที่เกษตรกรรมของไทย ปัจจุบันถูกใช้เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก จากพื้นที่เกษตร 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมันถึง 125 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด
ข้าวคือพืชเศรษฐกิจที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือมีพื้นที่ปลูก 72.45 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปี 61.7 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 10.7 ล้านไร่ มีชาวนาที่ปลูกข้าวอยู่ประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 15 ล้านคน ส่วนยางพารา พืชเศรษฐกิจที่เพิ่งบูมเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ปลูกอันดับสองคือ 22.2 ล้านไร่ มีเกษตรกรสวนยาง 1.6 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 6.4 ล้านคน ในขณะที่อ้อยโรงงาน มีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับสาม 10.1 ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 3 แสนครัวเรือน ส่วนมันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจที่มีพื้นที่ปลูกอันดับสี่ 8.6 ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 5 แสนครัวเรือน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่ถูกกล่าวว่าเป็นต้อตอของปัญหาหมอกควัน มีพื้นที่ปลูก 7.3 ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 แสนครัวเรือน และสุดท้ายปาล์มน้ำมัน มีพื้นที่ปลูก 4.1 ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 1 แสนครัวเรือน หรือประมาณ 4 แสนราย
หากมองในภาพรวม มีเกษตรกรที่เกี่ยวพันหรือปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ตัวนี้ ถึง 26 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว แน่นอนอาจมีจำนวนที่เหลื่อมกันบ้างเพราะเกษตรกรหนึ่งรายอาจปลูกพืชเศรษฐกิจมากกว่า 1 อย่าง โดยยังไม่นับรวมเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ถั่วเหลือง ขิง หอมหัวใหญ่ ลำไย และอื่นๆ พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ เกษตรกรมักปลูกในลักษณะพืชเชิงเดี่ยว คือปลูกชนิดเดียว ปริมาณมาก เป็นพื้นที่กว้าง และพึ่งรายได้จากการขายพืชเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นรายได้หลักของครอบครัว
แต่เมื่อพิจารณาถึงรายได้ จากตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556 พบว่าชาวนามีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด คือมีรายได้เฉลี่ยเพียง 271 บาทต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจะมีรายได้เฉลี่ยต่อไร่สูงสุดคือ 5,768 บาทต่อไร่ ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีรายได้เฉลี่ย 1,045 บาทต่อไร่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้เฉลี่ย 1,961 บาทต่อไร่ เกษตรกรชวนสวนยางมีรายได้เฉลี่ย 5,128 บาทต่อไร่ และเกษตรกรไร่อ้อยมีรายได้เฉลี่ย 5,708 บาทต่อไร่
แม้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะรายงานว่าพืชเศรษฐกิจบางตัว อย่างปาล์มน้ำมันและยางพารา จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อไร่สูง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งเกษตรกรสวนยางและเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ต้องเจอมรสุมราคาผลผลิตยางและปาล์มตกต่ำไม่แพ้กัน เป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงเพื่อให้รัฐบาลเพื่อไขปัญหาและพยุงราคาเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น ดังนั้นจะว่าไปแล้ว ชาวนาและเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจต่างกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน คือราคาผลผลิตกต่ำ เรียกร้องให้รัฐพยุงราคาไม่สำเร็จ และไม่รู้จะหันหน้าไปปลูกพืชอะไรแทนเพื่อให้มีรายได้ที่ดีขึ้น
สาเหตุโดยรวมที่พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ราคาตกต่ำ มาจากปัญหาปริมาณการผลิตมากเกินจนล้นตลาด ต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มีการนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศ(กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน) ประเทศที่เคยรับซื้อผลผลิตจากไทยขยายพื้นที่ปลูกเอง (กรณีจีนขยายพื้นที่ปลูกยางพารา) และได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตในตลาดโลกผันผวน ซึ่งกล่าวได้ว่า บางส่วนของปัญหาเหล่านี้ควบคุมได้ยากเพราะเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ และบางปัญหาแก้ไขได้ยากและต้องใช้เวลาในการจัดการ โดยเฉพาะปัญหาผลผลิตล้นเกิน เพราะมีการส่งเสริมเกษตรกรในช่วงต้นและปล่อยให้มีการผลิตโดยไม่มีการควบคุมปริมาณ
แนวทางที่น่าจะพอเป็นความหวังในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลผลิตล้นเกิน โดยเฉพาะกับเกษตรกรที่ไม่รู้จะหันไปปลูกพืชอะไร เนื่องจากพืชเศรษฐกิจที่รัฐส่งเสริมล้วนอยู่ในสภาพราคาผลผลิตตกต่ำทั้งนั้น นอกเหนือจากความช่วยเหลือของภาครัฐที่ควรสนับสนุนปัจจัยการผลิตราคาถูกให้กับเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้ว รัฐควรมีโครงการประกันราคา หรือประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ในเบื้องต้นด้วย โดยการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาตลาดอ้างอิงที่รัฐกำหนดในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต กับราคาประกันที่รัฐกำหนดในช่วงก่อนการเพาะปลูก ไครงการนี้ใช้งบประมาณไม่มาก และไม่ส่งผลให้เกิดการบิดเบือนตลาดเหมือนโครงการรับจำนำ โดยที่รัฐสามารถกำหนดปริมาณผลผลิตที่จะมีการประกันราคาตั้งแต่ช่วงก่อนการเพาะปลูก โครงการนี้แม้เกษตรกรจะได้รับเงินไม่มากเท่าโครงการรับจำนำ แต่ก็ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่าผลผลิตที่ออกมา จะไม่ถูกพ่อค้ากดราคาให้ต่ำไปกว่าราคาตลาดอ้างอิงที่รัฐเป็นผู้กำหนด ซึ่งคุ้มทุนและทำให้เกษตรกรพออยู่ได้
แต่อย่างไรในระยะยาว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐจะต้องสรุปบทเรียนความล้มเหลวของการส่งเสริมเกษตรกรให้ขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจตามความต้องการชั่วคราวของตลาดและความต้องการของภาคเอกชน ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นเกิน และราคาผลผลิตตกต่ำ จนนำมาสู่การขาดทุน ความไม่มั่นคงทางรายได้ของเกษตรกร ไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะคนที่ตกที่นั่งลำบาก เดือดร้อนตลอดมาคือเกษตรกร และคนที่มีหน้าที่เจรจากับม็อบเป็นประจำทุกปี ซึ่งหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ก็คือรัฐบาลนั่นเอง
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.