ในที่สุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งชี้ขาดไม่รับคำร้องอุทธรณ์ของเกษตรกร ที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองชั้นต้น ด้วยเหตุผลสองประการคือ แบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ เป็นคำสั่งภายใน ไม่ใช่คำสั่งที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร และเกษตรกรไม่สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิชุมชน มาใช้อ้างสิทธิทางศาลได้
แน่นอนว่าเครือข่ายเกษตรกรรายย่อย ผู้ร่วมลงชื่อฟ้องคดีปกครอง ซึ่งดั้นด้นมาจากชนบทอันห่างไกลในเขตป่า เพื่อมาทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายทนายความในครั้งนี้ ย่อมรู้สึกผิดหวังและเสียใจกับผลที่เกิดขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ คือกลุ่มเกษตรกรขนาดเล็กที่อยู่ในหมู่บ้านชนบทกลุ่มนี้ ซึ่งมีทั้งเรือกสวนไร่นา และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนแห่งชาติ (ไม่ว่าใครจะอยู่มาก่อนก็ตาม) ย่อมจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคงอีกต่อไป เพราะมันหมายความว่า ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่มาก่อนหรือหลังการประกาศเขตป่าสงวนหรือป่าอุทยาน หากพวกเขาไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน พวกเขาก็มีสิทธิ์ถูกฟ้องคดีอาญาขับไล่ออกจากที่ดินของรัฐ และอาจถูกแถมด้วยคดีแพ่งโลกร้อน ที่เรียกค่าเสียหายตามหลังอีกนับแสนบาทด้วย
ชาวบ้านส่วนหนึ่งจากเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมในการฟ้องคดีปกครองครั้งนี้ (เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด) จึงมีข้อสรุปว่า "ไม่มีใครในสังคมเข้าใจชาวบ้านเลย ทั้งๆ ที่อยู่อาศัยกันมา ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย สุดท้ายกลับจะต้องมาถูกจับติดคุก เพราะข้อหาบุกรุกที่ดินปู่ย่าตายายนี่เอง" "หนี้สินจากคดีแพ่งโลกร้อนครั้งนี้ พอรุ่นเราตาย ก็ยังจะตกทอดไปถึงรุ่นลูกหลานด้วย" นั่นคือนอกจากเกษตรกรรุ่นนี้ จะเอาตัวไม่รอดจากคดีอาญาข้อหาบุกรุกป่าแล้ว อาจจะยังได้ฝากหนี้สินอันเป็นค่าเสียหายทำให้โลกร้อนจากคดีแพ่งไว้ให้รุ่นลูกหลานอีกด้วย
ไม่น่าเชื่อว่าสังคมไทย จะมีแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาการบุกรุทำลายป่า ด้วยการลงดาบกับเกษตรกรรายย่อยได้รุนแรงถึงเพียงนี้
เคยมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมท่านหนึ่ง ซึ่งทำงานในแวดวงระดับสากลเรื่องการประเมินความเสียหายของสิ่งแวดล้อมในทางเศรษฐศาสตร์ มีความเห็นว่าในทางวิชาการแล้ว การนำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีสถานภาพทางวิชาการหนักแน่นเพียงพอ มาเอาผิดกับเกษตรกรรายย่อยซึ่งยากจน และยังไม่ชัดเจนเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น เป็นเรื่องที่น่าอับอายทางวิชาการอย่างยิ่ง
ถึงแม้จะมีความพยายามในการทำงานทางวิชาการเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือส่วนวิจัยต้นน้ำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เป็นหน่วยงานเริ่มต้นในการ ออกแบบจำลองดังกล่าว รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในด้านกฎหมาย เพื่อให้มีการชะลอการดำเนินการเอาผิดกับชาวบ้าน หรือทบทวนแบบจำลองเพื่อให้เกิดการยอมรับในทางวิชาการวงกว้างเสียก่อน แต่ดูจากสถิติปริมาณคดีโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ แสดงให้เห็นว่าความพยายามเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐทบทวนเรื่องนี้แต่อย่างใด
ข้อมูลจากการศึกษาของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค) ปี 2557 พบว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ได้ดำเนินการฟ้องคดีโลกร้อน ประมาณ 3,500 คดี แบ่งเป็นการฟ้องคดีจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ 2,000 คดี และจากกรมป่าไม้ 1,500 คดี รวมค่าเสียหายที่คำนวณจากข้อมูลที่มีอยู่ 666 คดี เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 549,422,243 บาท หรือเฉลี่ยคดีละ 824,958 บาท และจากสถิติคดีที่ถูกตัดสินถึงที่สุดแล้ว 289 คดี พบว่าร้อยละ 99 ของผู้ที่ถูกดำเนินคดีคือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ ถึงไม่เกิน 50 ไร่ และมีเพียงร้อยละ 1 ของผู้ถูกดำเนินคดีเท่านั้น ที่เป็นนายทุนรายใหญ่ และมีที่ดินระหว่าง 50 ไร่ ถึง 354 ไร่
เห็นได้ชัดว่า ใครคือเหยื่อของการออกแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และการฟ้องคดีแพ่งโลกร้อนครั้งนี้ เกษตรกรรายย่อยหรือว่านายทุน
การเรียกเก็บค่าเสียหายกับนายทุนที่ถือครองที่ดินในพื้นที่ป่านับร้อยไร่ เฉลี่ยรายละ 824,958 บาท ตามที่คำนวณข้างต้น คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรสำหรับนายทุน แต่ถ้าหากภาครัฐเรียกเก็บค่าเสียหายจำนวนนี้ กับเกษตรกรรายย่อย ที่หาเช้ากินค่ำ มีรายได้จากเพียงสวนยางและสวนผลไม้เท่านั้น นี่จะกลายเป็นมหันตภัยครั้งยิ่งใหญ่ของเกษตรกรรายย่อยเลยทีเดียว น่าเศร้าใจที่มหันตภัยครั้งนี้ กลับมาจากหน่วยงานภาครัฐ ที่ควรมีหน้าที่ในการปกป้องดูแลช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ให้กินดีอยู่ดี และมีฐานะที่มั่นคง แต่กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม
แล้วอย่างนี้ จะเรียกว่าเรามีวิสัยทัศน์ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง และยั่งยืน ได้อย่างไร !
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 28 สิงหาคม 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.