ความเดือดร้อนชาวบ้านพรสวรรค์ หมู่ที่ 14 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

Created
วันจันทร์, 01 พฤศจิกายน 2553
Created by
ฝ่ายข้อมูลเครือข่ายปฏิรูปภาคเหนือ
Categories
คดีความที่ดิน
 

ความเป็นมา

          ในปีพ.ศ.2527 ชาวบ้านจำนวน 47 รายในเขตหมู่ที่ 4,6,8,9,11 ตำบล ข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่บ้านพรสรรค์ หมู่ที่ 14 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ (บ้านพรสวรรค์เป็นหย่อมบ้านหนึ่งของบ้านอังครักษ์ หมู่ที่ 14) ผลจากการขยายตัวขึ้นของชุมชนและมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและการ บริโภคของครอบครัว ประกอบกับในช่วงระหว่างนั้นรัฐบาลได้มีนโยบายให้ราษฎรผู้ยากไร้สามารถอาศัย ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมได้  ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงได้เข้าไปบุกเบิกในพื้นที่ โดยเริ่มแรกทำการบุกเบิกที่ดินทำกินเพื่อปลูกพืชล้มลุกประเภทผักพื้นบ้าน เพื่อการบริโภคในครัวเรือน 

          17 กุมภาพันธ์ 2529 ชาวบ้านจำนวน 45 ครอบครัวได้ติดต่อกับป่าไม้เขตจงหวัดเชียงใหม่เพื่อขอเข้าทำประโยชน์ใน พื้นที่ทำกินตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติและขอให้ส่วนราชการจัดแบ่ง พื้นที่ให้คนละ 1ไร่ ในวันที่ 27 เมษายน 2530 เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 หัวหน้าศูนย์ปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติที่ 1 ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า คณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการจัดหมู่บ้านป่าไม้ ป่าจอมทอง มีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2530ให้ราษฎรดังกล่าวจำนวน 45 ราย ไปยื่นคำขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่สำนักงานป่าไม้อำเภอจอมทอง  ชาวบ้านจึงได้ดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยวันที่ 23 กรกฎาคม 2530 นายใจ๋ ดวงเดช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 (ปัจจุบันแยกเป็นหมู่14) พาชาวบ้านจำนวน 47 รายไปยื่นคำร้องขอเช่าที่ดินกับหน่วยงาน ซึ่งได้เสียเงินค่ามัดจำ ค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว จำนวน 20 บาทต่อไร่ โดยไม่มีการขยาย

          และได้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานรัฐเพื่อขอเช่าที่ดินทำประโยชน์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าสงวนเสื่อมโทรม และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีมติให้ราษฎรไปยื่นคำขอใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ สำนักงานป่าไม้อำเภอจอมทองได้ โดยเสียเงินค่ามัดจำ ค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่ยังไม่มี ความคืนหน้าใดๆ  ต่อมาในปีพ.ศ.2539  มีราษฎรอีกหลายกลุ่มได้พยายามเข้าบุกเบิกและตัดไม้ในบริเวณใกล้เคียง จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคลหลายฝ่าย ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมราษฎรจำนวน 40 รายซึ่งเป็นผู้ทำกินอยู่เดิม โดยอ้างว่าราษฎรกลุ่มนี้เป็นผู้บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันโค่นต้นไม้ในป่าจอมทอง และส่งฟ้องศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 ให้จำเลยมีความผิดในข้อหาบุกรุกและมีคำสั่งบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่

ลำดับเหตุการณ์     

หลัง จากได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่และยื่นคำขอหน่วยงานราชการก็มีท่าทียอมรับการ ใช้พื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมของชาวบ้านเป็นอย่างดี โดยภายหลังปีพ.ศ.2530 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาในพื้นที่เป็นครั้งคราว ต่อมาในปีพ.ศ.2534 ศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่ สชป.1 สังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านเรื่องการหาแหล่งน้ำในการทำเกษตร ทางศูนย์ฯจึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างบ่อพักน้ำและอาคารประกอบห้วยเลี้ยวให้ ชาวบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2534

          วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่าง นายอำเภอจอมทอง (นายเฉลิมชัย วรวุฒิพุทธพงศ์) , ป่าไม้อำเภอจอมทอง (นายศุภกิจ นิ่มสกุล) , เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 5 (นายวรพจน์ ผ่องสมัย) ,นายส่งสุข ภัคเกษมและนายสุรพล เกียรติไชยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยชาวบ้านที่เข้าอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ซึ่งได้ยื่นคำขออนุญาต เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 47 ราย โดยที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ออกไปตรวจสอบสภาพพื้นที่ทำกินเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา โดยในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2536 หน่วยงานป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือแจ้งให้ชาวบ้านที่ขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน เพื่อนัดวันตรวจสอบพื้นที่ที่มีการขออนุญาต

          ต่อมานายส่งสุขและนายสุรพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดูแลรับผิดชอบป่าไม้ทั้งหมดขณะนั้น) เพื่อเร่งดำเนินการให้ชาวบ้านมีที่ทำกินอย่างถูกต้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสภาพพื้นที่ โดยมีนายปรีชา อบอาย รองปลัดกระทรวงฯเป็นประธาน และมีสส.และข้าราชการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่มีข้อมูลไม่เพียงพอจึงสรุปผลไม่ได้ วันที่ 31 ตุลาคม 2537 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ)  รองปลัดกระทรวง (นายปรีชา อบอาย) นายส่งสุข ภัคเกษม นายสุรพล เกียรติไชยากร นายบุญช่วย ภู่จีนาพันธ์ ส.ส.เชียงใหม่ ปลัดเชียงใหม่ นายอำเภอจอมทอง ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการต้นน้ำ กรมป่าไม้เดินทางตรวจสภาพพื้นที่ทำกินบริเวณหลัก ก.ม.ที่ 3-5 ถนนสายจอมทอง-อินทนนท์ และมีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการดังนี้

1.     เร่ง รัดประกาศผนวกพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยให้ปักปันเขตแดนใหม่และเจียดพื้นที่บางส่วนที่พอจะเจียดได้ให้แก่ราษฎร ได้มีโอกาสมีที่ดินทำกิน

2.     คัด เลือกสอบสวนราษฎรทุกคนที่มายื่นแสดความจำนงจะรับที่ดินเพื่อทบทวนสืบเสาะว่า ควรจะได้รับการสงเคราะห์จากรัฐบาลและเป็นคนยากไร้ไม่มีที่ดินพอทำกินหรือไม่

3.     เมื่อได้ที่ดินแล้วให้ใช้ที่ดินทุกตารางวาให้เป็นประโยชน์ มีโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพได้

4.     ที่ดินที่ได้รับห้ามขายหรือโอน

5.     วันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 นายปรีชา อบอาย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมกาตรวจสอบสภาพพื้นที่ ได้ทำบันทึกข้อความเสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบถึงผล การดำเนินการตรมคำสั่งของรัฐมนตรีช่วยฯ ว่าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2537 ได้ ให้คณะทำงานซึ่งมีนายอำเภอจอมทองเป็นประธานไปตรวจสอบคุณสมบัติของราษฎรว่ามี ฐานะยากจนและไม่มีที่ดินเป็นของตนเองกี่ราย โดยในระหว่างปีพ.ศ.2538-2539 ส่วนราชการได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบพื้นที่รวมสองชุดและดำเนินการตรวจสอบเป็นลำดับดังนี้

-          ปีพ.ศ.2538 สำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดเชียงใหม่ตรวจสอบพื้นที่และมีหนังสือถึงอธิบดีกรมป่าไม้ดังนี้

1)     มีพื้นที่พอจะเจียดให้ราษฎรได้จำนวน 191 ไร่

2)     พื้นที่สามารถประกาศผนวกให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติมีเนื้อที่ประมาณ 2,699 ไร่ ซึ่งป่าไม้เขตได้แจ้งให้อุทยานแห่งชาติอินทนนท์ทราบแล้ว

3)     การสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตได้ตรวจสอบบริเวณใกล้เคียง ปรากฏว่า ยังมีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ (ป่าโซนE) ที่จะมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินสามารถเข้าดำเนินการได้

นอกจากนี้ป่าไม้เขตยังมีความเห็นว่าพื้นที่ซึ่งจะแบ่งให้ราษฎรจำนวน 191 ไร่ มีน้อยกว่าความต้องการของชาวบ้าน จงน่าจะมอบพื้นที่จำนวนดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินดำเนินการ พร้อมกับผนวกพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อจัดแบ่งให้ราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการ ปฏิรูปที่ดินด้วย จะได้บรรเทาความเดือดร้อน

-          ปีพ.ศ. 2539 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งกระทรวงที่ 125/2539 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2539 เสนอผลการพิจารณารวม 3 ข้อคือ

1)     มอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการผนวกพื้นที่ปลูกสร้างเสริมสวนป่าเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติ

2)     มอบหมายให้กรมป่าไม้ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรที่ยื่นคำขอใช้ประโยชน์และผ่านคุณสมบัติแล้ว 481 ไร่ โดยได้ดำเนินการตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และระเบียบหลักเกณฑ์นโยบายที่ทางราชการกำหนด

3)     กรมป่าไม้ควรเร่งดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2539 และรายงานความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการตรวจสอบสภาพพื้นที่ทราบเป็นระยะๆ

จากความเป็นมาของเหตุการณ์นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 ถึง ปีพ.ศ.2539 พบว่าชาวบ้านทั้ง 47 ราย ได้พยายามประสานงานร่วมกับหน่วยงานราชการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนมาโดย ตลอด โดยยึดข้อกฎหมายและระเบียบของราชการในการดำเนินการ นอกจากนั้นเมื่อเข้าใช้ประโยชน์ชาวบ้านก็ยังช่วยกันดูแลป่าบริเวณใกล้เคียง และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดขยายพื้นที่เพิ่มแต่อย่างใด

จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง

          จุดเริ่มต้นของการจับกลุ่มชาวบ้านพรสวรรค์ มีข้อสังเกตว่าน่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการบุกรุกป่าไม้ของราษฎรในพื้นที่ใกล้ เคียง จนกระทั่งทำให้นำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีชาวบ้าน 47 ราย โดยมีเหตุการณ์สำคัญๆที่อาจจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันดังนี้

          วันที่ 17 กันยายน 2539 ราษฎร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่นำราษฎรหลายร้อยคนเข้าไปตัดฟันแผ้วถางป่าบ้านไร่ดงในเขตตำบลบ้านหลวงเป็นเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ห่างจากที่ดินบริเวณบ้านพรสวรรค์ 10 กิโลเมตร

          วันที่ 8 ธันวาคม 2539 ราษฎรหมู่ที่ 11 ต.ข่วงเปา อ.จอมทองประมาณ 100 คนไปตัดฟันแผ้วถางป่าบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4 ในพื้นที่ประมาณ 900 ไร่ เพื่อจับจองพื้นที่ทำกิน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการใด เนื่องจากเห็นว่าอาจเป็นปัญหาในทางการเมือง

          วันที่ 13-14 ธันวาคม 2539  ชาวบ้านหมู่ที่ 10 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ รวบรวมราษฎรไปแย่งพื้นที่ของราษฎรหมู่ที่ 11 จนเกิดความขัดแย้ง ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงจับตัวแกนนำชาวบ้านหมู่ที่ 11 ไปยังสถานีตำรวจ ซึ่งแกนนำคนดังกล่าวอ้างว่าให้จับกุมชาวบ้าน 47 รายในบ้านพรสวรรค์ที่ทำกินบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนสายจอมทอง-อินทนนท์ด้วย

          วันที่ 17 ธันวาคม 2539 หลัง จากการพาดพิงของแกนนำผู้ถูกจับกุมหรือด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมด้วยอาวุธครบมือจำนวน 300 นายบุกเข้าจับกุมชาวบ้านจำนวน 47 รายในพื้นที่หลักกิโลเมตรที่ 3-4 โดยในเบื้องต้นควบคุมตัวได้เพียง 40 คน และนำตัวไปฝากขังที่ สภ.อ.สารภี  สภ.อ.สันกำแพงและสภ.อ.แม่ริม หลังจากนั้นจึงทำสำนวนส่งฟ้องศาลจังหวัดเชียงใหม่ในข้อหาบุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันโค่นต้นไม้ในป่าจอมทองและแยกสำนวนการพิจารณาเป็นรายๆ

          หลังจากการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านทั้ง 40 ราย (ถูกจับกุมตัวเพียง 40 ราย อีก 7 คน ไม่ได้อยู่ในพื้นที่) ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดชาวบ้านจึงถูกจับกุมทั้งที่ผ่านมาก็ได้มี การประสานงานกับรัฐบาล หน่วยงานราชการในท้องที่ เพื่อยื่นคำขอใช้ประโยชน์ในที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด อีกทั้งได้ทำกินและอาศัยในบริเวณนั้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2527 นับเป็นเวลากว่าสิบสองปีแล้ว เหตุใดจึงเพิ่งถูกจับกุม

กระบวนการจัดการปัญหา

การยื่นข้อร้องเรียนต่อหน่วยงาน

จากการถูกดำเนินคดีอาญา ชาวบ้านจึงได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปาได้จัดประชุมสมัยวิสามัญครั้งที่ 2 และรับเรื่องของราษฎรทั้ง 47 ราย เข้าพิจารณา โดยในที่ประชุมเห็นว่าชาวบ้านมีฐานะยากจนจริง การขอเช่าพื้นที่ก็เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อประกอบอาชีพ ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2541 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปาได้ประชุม สมัยวิสามัญครั้งที่ 2 ประจำปี 2541 มีมติ เห็นชอบให้กรมป่าไม้มอบพื้นที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 3-5 ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์จำนวน 150 ไร่ให้กับสปก.เป็นผู้ดำเนินการ

          นอกจากนั้นยังได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา เพื่อขอความเป็นธรรม และขอให้ผู้มีอำนาจช่วยคลี่คลายปัญหา โดยได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2541 ว่าได้รับหนังสือและกราบเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว  และในเดือนตุลาคม 2541 มีหนังสือจากรัฐสภาแจ้งว่าประธานรัฐสภาได้รับทราบเรื่องแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในทางนโยบายแต่อย่างใด

การต่อสู้คดีของชาวบ้าน

ภายหลังจากการถูกดำเนินคดีราษฎรทั้ง 47 รายได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความภาค 5 ซึ่ง ได้รับดคีไว้และจัดหาทนายให้เพื่อต่อสู้คดี โดยในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีป่าไม้เขตจังหวัด (นายวรวิทย์  เชื้อสุวรรณ) นายสุรพล เกียรติไชยากร (อดีตส.ส.เชียงใหม่) และนายแดง นาระต๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.ข่วง เปา อ.จอมทอง ได้ประสานงานให้ราษฎรไปเจรจาที่สำนักงานเขตเชียงใหม่และเกลี้ยกล่อมให้รับ สารภาพตามคำฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าหากเรื่องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ป่าไม้เขตจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ หากรับสารภาพและคดีถึงที่สุดทางป่าไม้เขตจะสามารถให้อนุญาตเช้าพื้นที่ทำกิน เดิมได้ ทำให้ชาวบ้านผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดรับสารภาพและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา ว่าจำเลยมีความผิดข้อหาบุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันโค่นต้นไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ    ให้จำคุกจำเลยทั้ง 40 ราย 6 เดือน แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ โดยคดีอาญาได้ถึงที่สุดแล้ว

          ทว่า เมื่อชาวบ้านทั้งหมดรับสารภาพและศาลพิพากษาคดีจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เหมือนเดิม เพราะเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2542 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอบังคับคดีให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง

1 กุมภาพันธ์ 2542 นายแดง นาระต๊ะ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.ข่วงเปา) ซึ่งเป็นผู้ต่อรองให้ชาวบ้านรับสารภาพส่งหนังสือถึงเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 ป่าไม้อำเภอจอมทอง เพื่อแจ้งผลการหารือของสภาตำบลข่วงเปา กรณีป่าไม้อำเภอขอใช้พื้นที่ป่าบ้านห้วยหลุ ต.ข่วงเปา เพื่อรองรับราษฎรทั้ง 47 ครอบ ครัว ว่าสภาตำบลไม่เห็นชอบให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากเป็นพื้นที่กันไว้ สำหรับเป็นที่ทิ้งขยะของอำเภอจอมทอง ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2542 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา ได้เปิดประชุมสมัยสามัญที่ 1 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2542 มี มติกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้มีสิทธิขอบใช้ประโยชน์ในพื้นที่บ้านห้วยหลุคือ หนึ่งต้องมีฐานะยากจน  สองต้องไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง สามขอเช่าที่ดินได้ไม่เกินคนละ 2 ไร่ และสี่ราษฎรที่จะเช่าให้ขอรวมกันทุกหมู่บ้าน ไม่แยกเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งหมายความว่าจะไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้หากไม่มีการแบ่งให้ราษฎรทั้งหมดก่อน

          18 มีนาคม 2542 นายเกรียงชัย วัฒนลักษณ์ ป่าไม้อำเภอจอมทอง มีหนังสือแจ้งให้ราษฎรบ้านพรสวรรค์ส่งเอกสารประกอบการขออนุญาตขอใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มเติม และวันที่ 8 เมษายน 2542 ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาจอมทอง ได้ทำหนังสือค้ำประกันการเช่าที่ดินของชาวบ้านตามระเบียบการเช่าที่ดินในเขต ป่าสงวน เพื่อให้ชาวบ้านนำไปประกอบคำร้องให้ครบถ้วน ชาวบ้านจึงมีความหวังว่าจะตนจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ได้

          ทว่าในวันที่ 21 เมษายน 2542 นายชัยวัฒน์ ผ่องโสภา ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่และป่าไม้อำเภอจอมทองได้เรียกชาวบ้านไปประชุมที่ สำนักงานป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ และแจ้งให้ชาวบ้านว่าไม่สามารถอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เดิม ได้ โดยอ้างว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านจะขอเข้าทำประโยชน์เป็นพื้นที่โครงการปลูกเสริม สร้างป่าของกรมป่าไม้  ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมได้ อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าทำกินในพื้นที่ใหม่ในบริเวณป่าห้วยหลุได้ เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปามีมติให้ต้องเข้าทำกินทั้งตำบลไม่ใช่ เฉพาะชาวบ้านพรสวรรค์  ชาวบ้านจึงเข้าร่วมเรียกร้องกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และนำปัญหาเข้าร้องเรียนต่อ นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรี 11 พฤษภาคม 2542 มอบหมายให้ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่รับไปดำเนินการจัดหาที่ดินให้ชาวบ้าน

          24 กันยายน 2542 นาย ชัยวัฒน์ ผ่องโสภา ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ และนายไพบูลย์ บุญธรรมช่วย นายอำเภอจอมทอง พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและราษฎรบ้านพรสวรรค์จำนวน 47 ราย ได้ร่วมประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี 11 พฤษภาคม 2542 ทาง ป่าไม้จังหวัดได้แจ้งราษฎรทราบว่าได้ดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือด ร้อนให้แล้ว โดยคัดเลือกพื้นที่บริเวณป่าห้วยหลุ หมู่ที่ 12 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง แทนพื้นที่เดิม ซึ่งป่าไม้จังหวัดได้แจ้งว่าได้จัดสรรให้แล้ว จำนวน 2 แปลงเนื้อที่จำนวน 220 ไร่ และ 430 ไร่ ตามลำดับ โดยชาวบ้านได้แจ้งกับป่าไม้จังหวัดว่าพร้อมที่จะออกจากพื้นที่ หากป่าไม้จังหวัดจัดสรรที่ให้โดยไม่ติดขัดกับมติขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ และขอให้ทางป่าไม้ช่วยเหลือทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อชดเชย ที่ชาวบ้านได้เคยสร้างไว้ในพื้นที่เดิม ในระหว่างนี้จึงทำให้ชาวบ้านยังไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ทันที เพราะการดำเนินการของป่าไม้ยังไม่ชัดเจน  ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่พอใจชาวบ้านเพราะไม่ยอมออกจากที่ดินทันที

          6 ตุลาคม 2542 จากการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2542 และ ชาวบ้านยังไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ทันที เนื่องด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่เชื่อว่าชาวบ้านดื้อรั้นและกระด้างกระเดื่อง จึงได้ทำหนังสือถึงศาลจังหวัดเชียงใหม่ขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับคดีให้ออกจาก ที่ดินพิพาท  จากการไต่สวนของศาลมีความเห็นว่ายังไม่มีความคืบหน้าจากทั้งชาวบ้านและ ป่าไม้ และเห็นสมควรให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันหามาตรการแก้ไขปัญหา  .โดยจะเลื่อนการบังคับคดีและเพื่อความสะดวกในการเดินทางของชาวบ้านให้นัด พร้อมกันทั้ง 35 ราย ในวันที่ 17 มกราคม 2543 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง

          8 ตุลาคม 2542 ตัวแทนชาวบ้านพรสวรรค์ 47 ครอบ ครัวเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายอำเภอจอมทอง เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมกับทางป่าไม้ อำเภอ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2542 พร้อมได้แสดงเจตนาบริสุทธ์ว่าราษฎรทั้งหมดมิได้มีพฤติกรรมที่ต้องการฝ่าฝืนกฎระเบียบ หรือกฎหมายแต่อย่างใด

          หลังจากไม่ประสบความสำเร็จใจการเจรจากับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชาวบ้านก็ยังคงอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่เดิมต่อเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีการตั้งถิ่นฐานที่มั่นคงถาวร มีการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ แต่ไม่มีการขยายพื้นที่ไปบุกรุกเขตป่าเพิ่มแต่อย่างใด  ในส่วนคดีความได้มีการชี้แจงและขอผ่อนผันกับศาลเรื่อยมา โดยข้อเท็จจริงแล้วชาวบ้านก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐและส่วนราชการ มาโดยตลอด  แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

สถานการณ์ปัจจุบัน

          6 มีนาคม 2550 ชาวบ้านพรสวรรค์ หมู่ที่ 14 ต.ข่วง เปา ได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบพื้นที่ของหมู่บ้านว่าอยู่ในเขต ปฏิรูปที่ดินหรือไม่ แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ปฏิรูป ที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือแจ้งกลับมาว่าพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใน เขตที่ ส.ป.ก. มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล (ตำบลข่วงเปา) แต่พื้นที่ดังกล่าวได้กันคืนให้กับกรมป่าไม้ ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้และ ส.ป.ก. ลงวันที 14 กันยายน 2538 แล้ว ส.ป.ก.จึงสามารถเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวได้

          กรกฎาคม 2551 ภายหลังจากที่ชาวบ้านทั้ง 40 ราย ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่ง ชาติ  ทางกรมป่าไม้ยังได้มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับชาวบ้านอีกรายละ 150,000-500,000 บาท แต่ได้มีการเจรจาและตกลงให้ชดใช้โดยการทำงานภายใต้โครงการปลูกป่าของกรม ป่าไม้ในพื้นที่ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  และใช้วิธีการหักลดค่าเสียหายเป็นรายวัน

23 พฤษภาคม 2551 หลังวันที่ 4 มิถุนายน 2541 ซึ่งครบเวลา 10 ปีหลังจากศาลมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดในคดีอาญาข้อหาบุกรุกของชาวบ้านพรสวรรค์ 40 ราย ได้มีหมายบังคับคดีจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้จำเลยและบริวารย้ายออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่ได้ยึดถือครอบครองไว้ภายใน 15 วัน โดยจำเลยทั้ง 40 ราย ได้ยื่นคำร้องคำสั่งบังคับคดีของศาลชั้นต้นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้อโต้แย้งว่าโจทก์มิได้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และขอให้เพิกถอนคำสั่ง แต่ศาลพิจารณาว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากพื้นที่นั้นเป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษ ทางอาญาตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่ง ไม่มีกำหนดอายุความ ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลย และศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  ขณะนี้การบังคับคดีอยู่ในระหว่างการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา

แต่ เนื่องด้วยความผิดพลาดบางประการจึงทำให้นายอินทร์ สุวรรณหนึ่งในชาวบ้านพรสรรค์และเป็นจำเลยในคดีไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง บังคับคดีต่อศาลฎีกา  โดยศาลมีคำสั่งนัดพร้อมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ที่ จะถึงนี้  โดยจะมีซักถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าจำเลยยังคงอยู่ทำกินหรือไม่ และรื้อสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่แล้วหรือยัง หากยังคงทำกินและไม่ได้รื้อสิ่งก่อสร้างออกจะมีการดำเนินออกหมายจับหรือหมาย ขังจำเลย จนกว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะทำการรื้อของและย้ายทรัพย์สินของจำเลยแล้วเสร็จ กรณีของนายอินทร์ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องช่วยเหลือและเยียวยา

7 ตุลาคม 2553  ภายหลังจากการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายน 2553 คณะ กรรมการสิทธิฯโดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาในบริเวณบ้านพรสวรรค์ ที่เป็นพื้นที่พิพาท โดยพบว่ามีพื้นที่ประมาณ 190 ไร่ มีราษฎรอาศัยและทำกินประมาณ 60 ครอบ ครัว มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร  ส่วนที่ดินบริเวณป่าห้วยหลุซึ่งกรมป่าไม้แจ้งว่าได้จัดหาไว้เพื่อรองรับ ราษฎรทั้งหมด ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ ก็ไม่เหมาะสมสำหรับให้ชาวบ้านย้ายเข้าไปอยู่ เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ  ที่ดินมีลักษณะเป็นดินลูกรังยากต่อการใช้ทำประโยชน์และสร้างบ้านเรือน นอกจากนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปาเคยมีมติว่าจะ จัดเป็นที่ทิ้งขยะ หากราษฎรประสงค์จะใช้ประโยชน์ต้องเป็นการจัดสรรให้แก่ทุกคนในตำบล ซึ่งยากต่อการนำไปปฏิบัติได้จริง

ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 ตุลาคม 2553 คณะ กรรมการสิทธิได้มีการประสานงานกับหน่วยงานและร่วมกันจัดประชุมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านพรสวรรค์ โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมประชุม คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  , นายสาธร วงศ์หนองเตย (ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) , ผู้อำนวยการสำนักงานจัดโฉนดชุมชน (ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี) , นายอำเภอจอมทอง , เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ , เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์ที่ 16 , เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา และคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าไม้ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  โดยหน่วยงานราชการรับทราบและเห็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่แต่ แจ้งว่าตนไม่มีอำนาจตัดสินใจในทางนโยบาย ที่ประชุมจึงมีมติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้แทนจากสำนักนายก รัฐมนตรีเข้าพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณานำพื้นที่นี้เข้าสู่การแก้ไขปัญหาตามแนวทางโฉนดชุมชน ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553  ในวันที่ 28-29 ตุลาคม นี้ โดยหากมีการพูดคุยเจรจาและหน่วยงานกลางเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ให้อนุกรรมการด้านที่ดินและป่าไม้ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรวบรวมข้อเท็จจริงและยื่นแถลงต่อศาล ผ่านทนายความผู้รับผิดชอบคดีว่าคดีของชาวบ้านทั้งหมดอยู่ในระหว่างการเจรจา แก้ไขปัญหาและมีการเสนอให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องโฉนดชุมชน

                                                                   เรียบเรียงโดย

ฝ่ายข้อมูลเครือข่ายปฏิรูปภาคเหนือ