เปิดไอเดียกรมโยธาฯ เล็งเสนอแก้กฎหมายผังเมือง ปลดล็อคเรื่องวันเวลาหมดอายุ แก้สูญญากาศ
โดย...วราพงษ์ ป่านแก้ว
พ.ร.บ.การผังเมือง เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2518 หรือเมื่อ 39 ปีที่แล้ว แต่ต้องถือว่าบทบาทที่ผ่านมาของผังเมืองยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งเอาไว้ได้ โดยเฉพาะการชี้นำการพัฒนาเมืองและการบังคับใช้ให้เป็นไปตามที่ผังเมืองกำหนด ซึ่งปัญหาหลักของผังเมือง คือ หน่วยงานรัฐ เอกชน รวมไปถึงประชาชนยังขาดความเข้าใจ และไม่เห็นความสำคัญของผังเมือง ทั้งที่ผังเมืองคือหัวใจสำคัญในการพัฒนาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ
ขณะเดียวกันในกระบวนการของการจัดทำผังเมืองก็ยังล่าช้า ทั้งจากขั้นตอนการจัดวางผัง และการถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ ส่งผลให้มีผังเมืองที่หมดอายุโดยที่ยังไม่มีการประกาศผังใหม่จำนวน 80 ผัง จากผังทั้งหมด 191 ผัง ยิ่งทำให้การใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่สามารถเดินได้ตามที่ผังเมืองกำหนดไว้ ซึ่งหากปล่อยเอาไว้จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาในหลายๆ ด้าน โดยที่ประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
กม.ผังเมืองต้องแก้ทั้งระบบ
มณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าการผังเมืองมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากไม่มีผังเมืองบ้านเมืองก็จะเกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างสะเปะสะปะ และจะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก อาทิ การใช้ที่ดินไม่เหมาะสม การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ปัญหาสภาพแวดล้อมเมือง การจราจรแออัด ปัญหาความปลอดภัยในอาคาร และมาตรฐานการก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งหากภาครัฐ เอกชน ประชาชน ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่ให้ความสำคัญผังเมืองอย่างจริงจัง ไม่ได้เข้ามามี
ส่วนร่วมกับการวางผังและปฏิบัติให้เป็นไปตามผังเมือง ปัญหาของเมืองในด้านต่างๆ ก็จะยังมีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรมโยธาฯ ได้สรุปปัญหาการใช้ผังเมืองเอาไว้ตั้งแต่ผังระดับนโยบาย ผังเมืองรวมจังหวัด และผังเมืองระดับชุมชน ได้แก่ ในระดับผังนโยบาย ประกอบด้วยผังประเทศ ผังภาค ผังอนุภาค แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2548 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ไม่มีกฎหมายและไม่มีผลบังคับใช้ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตาม และยังไม่มีการประชุมเลยแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนผังเมืองรวมจังหวัด ปัญหาคือมีพื้นที่ขนาดใหญ่ การตรวจสอบข้อมูลใช้ระยะเวลานาน การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจึงทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับขั้นตอนในการวางผังมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน
สำหรับผังตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ผังเมืองรวมและผังชุมชน ที่ผ่านมามีการประกาศใช้ล่าช้า ผังเมืองหมดอายุขาดการบังคับใช้ เนื่องจากการถ่ายโอนภารกิจ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ บุคลากรและงบประมาณ การนำผังไปปฏิบัติขาดประสิทธิภาพ เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้ และควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เป็นไปตามผังเมืองรวม
ชง คสช.แก้ปัญหาผังหมดอายุ
จากปัญหาดังกล่าว กรมโยธาฯ จึงได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน โดยการเร่งปรับปรุงพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 26 ไม่ให้มีการกำหนดอายุ การบังคับใช้ผังเมืองรวม เพื่อให้แนวทางการใช้บังคับผังเมืองรวมเป็นระบบสากล โดยประเทศที่มีการพัฒนาทางผังเมืองมายาวนานล้วนไม่กำหนดการหมดอายุของผัง และจะมีสภาพบังคับไปจนถึงปีเป้าหมาย หรือจนกว่าจะมีผังใหม่มาทดแทน โดยกำหนดให้มีการประเมินผลผังทุก 5 ปี หรือ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้จะต้องอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อออกประกาศแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 เฉพาะมาตรา 26 กฎกระทรวงผังเมืองรวมไม่มีอายุบังคับใช้ และนำมาตรา 26 ใหม่ที่แก้ไขมาใช้บังคับกับกฎกระทรวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันด้วย นอกจากนี้ให้นำกฎกระทรวงผังเมืองรวมที่สิ้นสุดอายุแล้ว ให้นำความในมาตรา 26 ใหม่มาใช้บังคับกับกรณีดังกล่าวนี้ด้วย เพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้น
ขณะที่ในระยะต่อไป กรมจะมีการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายผังเมืองทั้งฉบับให้มีระบบการวางผังที่มีความทันสมัย สามารถประกาศบังคับใช้อย่างสมประโยชน์และเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง มีการปรับโครงสร้างองค์กรและภารกิจด้านการผังเมืองให้เป็นระดับชาติ เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลักดันคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติให้มีบทบาทสนับสนุนภารกิจด้านการผังเมืองสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
เอกชนเสียงแตกอายุผังเมือง
สำหรับการขอแก้ พ.ร.บ.การผังเมือง ในประเด็นเรื่องไม่กำหนดอายุการบังคับใช้ผังเมืองนั้น ในมุมมองของภาคเอกชนก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวก็ถือว่าดี แต่กรอบในการปรับปรุงก็ต้องชัดเจน กำหนดทุกๆ กี่ปี ไม่ควรช้ากว่า 5 ปี เร็วกว่านั้นได้ แต่ห้ามช้ากว่านั้น เพื่อให้สอดรับกับปัญหาของเมือง ควรมีกำหนดให้ปรับปรุงย่อยก่อนปรับปรุงใหญ่ ซึ่งการปรับปรุงย่อยต้องปรับปรุงได้สะดวก เช่น ภาวะนํ้าท่วม การเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณูปโภคที่เข้ามาเป็นตัวแปรใหม่ๆ
ขณะที่ปัจจุบันการปรับปรุงย่อย แม้จะมีระเบียบราชการที่สามารถทำได้ แต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นได้จริง โดยการปรับปรุงย่อยส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุของราชการ เช่น มีการยื่นอุทธรณ์ว่าผังเมืองใหม่มีปัญหา มีผลกระทบกับการอยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ถ้าราชการไม่ได้เป็นต้นเรื่อง ก็แทบไม่มีปรับปรุงย่อยเกิดขึ้นเลย ซึ่งในความเป็นจริงควรจะเปิดให้มีการปรับปรุงย่อยแบบเปิดเผย และเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนด้วย
อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การกำหนดกรอบอายุผังเมืองที่ชัดเจน แตกต่างจากผังเมืองที่ไม่มีอายุและใช้วิธีปรับปรุง จึงอาจจะไม่เห็นด้วยกับผังเมืองที่ไม่มีอายุและใช้วิธีปรับปรุง เพราะผังเมืองปัจจุบันที่มีกรอบเวลาต้องแก้ไขชัดเจน ยังไม่สามารถแก้ไขได้ทันตามกำหนดเลย ยังมีผังเมืองที่ขาดอายุไปกว่า 100 ผังเมือง หากปลดล็อกให้ผังเมืองไม่มีอายุ จะยิ่งไม่มีแรงจูงใจให้หน่วยงานรัฐเร่งแก้ไขปรับปรุงผังเมืองให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
"การไม่มีกรอบเวลาเป็นการผ่อนปรน แต่ปัญหาของเมืองไม่รอ ควรแก้ไขที่กระบวนการทำงาน หากกรมโยธาฯ ต้องการแก้ปัญหาสุญญากาศให้กับผังเมืองหมดอายุ ขอเสนอว่าควรใช้วิธีให้หน่วยงานรัฐท้องถิ่นสามารถประกาศใช้ตามผังเมืองเดิมต่อไปก่อนได้ทันที และเร่งปรับปรุงฉบับใหม่จะดีกว่า" อิสระ กล่าว
คงต้องรอดูว่าความพยายามของกรมโยธาฯ จะสัมฤทธิผลมากน้อยแค่ไหนกับการแก้ปัญหาผังเมืองหมดอายุครั้งนี้ อีกไม่นานก็รู้คำตอบ
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 ก.ค. 2557