เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) หรือ บจธ.ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน หัวข้อ “ธนาคารที่ดินจะมีประโยชน์อย่างไรกับเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วน เพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น เสนอแนะ และแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับการตั้งธนาคารที่ดินตามพันธกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน
โดยในกำหนดการมีการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาโดยนายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการที่ดิน และกล่าวเปิดการสัมมนา โดยพลโท ชาญชัย ภู่ทอง ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และในการสัมมนามีวิทยากรร่วมเสวนา ดังนี้ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูประบบและโครงสร้าง,รศ.นที ขลิบทอง ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ,ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารจัดการที่ดิน,นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ ผอ.สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน,นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้,นายภาณุพงศ์ กรรณาธิกรณ์ ผู้ประกาศข่าวช่อง 5 เป็นพิธีกร
เร่ิมต้นโดยการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยนายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการที่ดิน ถึงภาพรวมของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินว่ามีประวัติความเป็นมาที่เกิดขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและการไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน ทำให้มีการจัดตั้ง บจธ.โดยมีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) เมื่อปี 2554 โดยมีการตราพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ซึ่งธนาคารที่ดินจะดำเนินการในที่ดินเอกชนเป็นหลัก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำระบบข้อมูลที่ดินและเป็นแหล่งทุนให้เกษตรกร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกร,ช่วยเหลือผู้ไร้ที่ดินทำกิน ให้มีที่ดินทำกิน และมีที่ดินเกษตรกรรมเป็นของตัวเอง และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
ซึ่งธนาคารที่ดินมีวิธีดำเนินการโดยการจัดหาที่ดินให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน ให้สินเชื่อแก่ผู้จะสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือการบังคับคดีเพื่อให้สามารถคงสิทธิในที่ดินไว้ได้ ผ่านการพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารที่ดินให้สามารถดำรงชีวิตและมีรายได้ ตลอดจนคงสิทธิในที่ดินเกษตรกรรมของตนไว้ได้ และสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรักษาพื้นที่เกษตรกรรม
ด้วยปัญหาข้างต้นทั้งการขาดแคลนที่ดินทำกินและการไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน ทำให้มีความจำเป็นต้องมีธนาคารที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน และป้องกันและแก้ไขการสูญเสียสิทธิในที่ดินเกษตรกรรม จากการจำนอง ขายฝาก ถูกบังคับคดี และส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารที่ดินอยู่ในกระทรวงการคลัง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา
ต่อด้วยการกล่าวเปิดงานโดยพลโท ชาญชัย ภู่ทอง ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ซึ่งได้กล่าวถึงหน้าที่หลักของ บจธ.ในด้านต่างๆ และหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือ การจัดทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. …. ตอนนี้อยู่ที่กรรมาธิการของคณะกรรมการของทางรัฐบาล เพราะว่ามันเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ถ้าเกี่ยวกับการเงินที่ไหนก็เสนอไม่ได้ เพราะว่าจะเอางบประมาณของประชาชนมาใช้ก็ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยกระทรวงการคลังเป็นหลักและก็มีคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เข้าใจว่าร่างของธนาคารที่ดินมันถูกแปลงร่างออกไปถึง 3 ฉบับ ฉบับหนึ่งของ บจธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ฉบับหนึ่งเป็นของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซื่งแทนที่ด้วยสภาขับเคลื่อนปฏิรูปซึ่งมาแทน สปช.มาขัดเกลาและนำเสนออีกหนึ่งฉบับ และของรัฐบาลอีกหนึ่งฉบับ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันก็มี 4 ฉบับไปต่อสู้กัน เป็นการทำเชิงรุกเพื่อให้ เพื่อให้เงินงบประมาณที่มีอยู่มีอยู่ถูกใช้อย่างคุ้มค้า เพราะ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ที่ บจธ.เสนอ มีงบถึง 6,000 ล้านบาท หรือสื่อฯ มองว่าต้องใช้เงินถึง 1 หมื่นล้าน ในการทำให้เกิดธนาคารที่ดิน ซึ่งมีกรณีศึกษาตั้งแต่ปี 2521 ถึงรูปแบบแนวทางในการจัดการที่ดิน
เมื่อเรากล่าวถึงธนาคาร ธนาคารทั่วไปก็มีเงินให้กับประชาชน แต่เมื่อเรากล่าวถึงธนาคารที่ดินก็ต้องมีที่ดินให้กับประชาชนกู้ไปทำ ส่วนหนึ่งประชาชาชนที่เป็นเกษตรกรผู้ยากไร้และผู้ยากจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินวันข้างหน้าต้องรอไปบุกรุกที่ดินของรัฐ ถ้าเราบุกรุกที่ดินของรัฐเจอกฎหมายอย่างน้อยต้องถูกบทลงโทษก่อนแล้วจึงจะไปทำ แต่จะแก้ไขแต่ละท่านคงเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน วันหนึ่งพ่อแม่ลูกเดินมา ไม่มีอาชีพหรือมีฐานอาชีพในการประกอบไม่มาก อยากมีความต้องการจะประกอบเกษตรกรรม โดยบุคคลมาค้ำประกัน 2-3 ท่าน นี่เป็นความหวังที่หลายๆท่านคิดว่าธนาคารที่ดินจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ปัญหาของประชาชนหลายอย่างไม่พ้นเรื่องที่ดิน ที่เอาไว้ทำกินในฐานะเป็นพื้นฐานของการประกอบอาชีพ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินได้ให้หลักการและเหตุผล ซึ่งประเด็นหลักของการมีธนาคารที่ดินที่เป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันมีคนจนกว่า 14 ล้านคน หรือ 11 ล้านคน ตามการสำรวจของกระบวนการสวัสดิการแห่งรัฐ และได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการขับเคลื่อนไปกับธนาคารที่ดินอย่างไร
ต่อด้วยวงสัมมนา หัวข้อ “ธนาคารที่ดินจะมีประโยชน์อย่างไรกับเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน” ซึ่งเร่ิมต้นด้วย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ที่ได้กล่าวถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนเองถึงประธานอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูประบบและโครงสร้างและกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ โดยคณะทำงานได้พิจารณาถึงความสำคัญประเด็นการกระจายการถือของที่ดิน เพราะเป็นการบ้านตามรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งต่อเนื่องกันมาหลายฉบับ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระจายการถือครองที่ดิน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มเติมไปด้วยถึงการตรวจสอบระบบกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน ซึ่งโยงไปถึงภารกิจของธนาคารที่ดิน
เพราะฉะนั้น การกระจายการถือครองที่ดิน เป็นภารกิจตามรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเรานึกย้อนไปถึงการขับเคลื่อนมวลชนในท้องถนน ประเด็นเรื่องที่ดิน เป็นหนึ่งในทุกม๊อบทุกสีเสื้อที่จะยกขึ้นมาเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นหากเราแก้ปัญหาเรื่องที่ดินนี้ได้ เราจะตอบโจทย์พื้นฐานของเหตุความขัดแย้งของสังคมไทยได้หนึ่งเรื่อง และจะตอบโจทย์เรื่องการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นการเปลี่ยนคู่ขัดแย้ง ซึ่งอยู่กันคนละฟากของสีทางการเมืองมาเป็นพลังร่วมกับการปฏิรูป และจะทำให้การปฏิรูปเรื่องอื่นๆมีพลังร่วมกันในสังคมมากขึ้น ซึ่งวันนี้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ภายใต้กับดักของรายได้ปานกลาง ปัญหาความขัดแย้งทางด้านสังคม ความขัดแย้งทางด้านการเมืองทั้งหลาย ซึ่งจะนำไปสู่การตอบโจทย์ที่วันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในการบ้านร่วมกันของทุกคน ซึ่ง ดร.บัณฑูร เน้นย้ำหลายที่ว่า ไม่ใช่การบ้านของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องมาช่วยกันทำ
ในทางเศรษฐกิจ ตัวเลยที่ทาง บจธ.ยกขึ้นมาร่วมทั้งตัวเลขทางวิชาการที่เราพูดกันและสื่อมวลชนก็เห็นกันเยอะว่าความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากการถือครองที่ดินของคน 50 ตระกูลร่ำรวย เพียงแค่ 3% ของที่ดินเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้นอีก 97% อยู่ในสภาวะที่เก็งกำไร ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ตรงนี้คือโจทย์ใหญ่ในทางเศรษฐกิจ ว่าเรามีปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก แต่มีคนทิ้งที่ดินรกร้างไว้ไม่ใช้ประโยชน์มหาศาลเช่นกัน ถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะตอบโจทย์การพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เพราะสภาพของที่ดินที่ควรจะใช้ประโยชน์วันนี้ ถูกถือครองไว้เพื่อการเก็งกำไร ถ้าเปลี่ยนตรงนี้มาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องทั้ง 97% หนึ่งในสี่ของเศรษฐกิจของประเทศก็คงมีสภาพที่ดีกว่านี้อีกเยอะ และนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์กับการบ้านของการพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรจะช่วยกันคิดว่าถ้าการตอบโจทย์การบ้านของการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ลำพังเพียงเครื่องมือธนาคารที่ดิน อาจจะไม่มีพลังพอ เพราะว่าการบ้านเรื่องนี้ต้องอาศัยหลากหลายเครื่องมือ หลากหลายกลไก ซึ่งเป็นโจทย์ที่หนักหน่วง ถ้าทุกคนหรือเราเข้าใจรัฐบาลสังคมเข้าใจ และไปฝากความหวังไว้กับธนาคารที่ดิน และวันหนึ่งธนาคารที่ดินไม่มีพลังพอตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ จำเลยก็อาจกลับมาอยู่ที่ธนาคารที่ดิน เพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน เราต้องการเครื่องมือที่มาช่วยธนาคารที่ดิน
ต่อด้วย รศ.นที ขลิบทอง ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้กล่าวถึง ประชาชนที่อยู่ในชนบทที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีปัญหาความเดือดร้อน เราอาจจะมองไม่เห็นเพราะว่าอาจจะอยู่ห่างไกล แต่หากได้ไปสัมผัส เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องอันดับหนึ่งที่ ที่มีความต้องการและเรียกร้อง เพราะถือว่านั่นคือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ อาจารย์นทีเคยได้เห็นพี่น้องประชาชนใส่รองเท้าเตะ น้ำตาไหลเมื่อได้ที่ดิน ส.ป.ก. เพราะนั่นหมายถึงอนาคตของลูกหลาน นั่นหมายถึงความรู้สึกของความมั่นคง และเมื่อได้แล้วคนที่ได้รับที่ดินก็จะหวงแหนในที่ดินของตนเอง แต่เมื่อมือความจำเป็นที่ต้องปล่อยที่ดินออกไป กระบวนการของธนาคารที่ดินสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ในการเข้าไปจัดการ ในการช่วยให้เกษตรกรรักษาที่ดินที่หวงแหนไว้ได้ ผมคิดว่าประชาชนที่ประสบปัญหาอยู่รอคอยสิ่งเหล่านี้
ประชาชนได้อะไรจากกระบวนการจัดการที่ดินที่เกิดขึ้น? ในภาคเศรษฐกิจซึ่งจะกลายเป็นภาคสังคมในตัวเอง โดยเฉพาะประชาชนจะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นมาได้ด้วยความมั่นใจ นี่เป็นกระบวนการบนการจัดการของธนาคารที่ดินบนพื้นฐานเหล่านี้ แต่ส่ิงที่ รศ.นที ชวนเรามองไปมากกว่าปัจเจก คือ วันนี้ที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ เราสามารถเอามาทำอะไรให้ได้มากกว่านั้นหรือไม่ ที่ดินคือสินทรัพย์ เราเพิ่มที่ดินขึ้นมาสองเท่า ก็คือสินทรัพย์ของประเทศเพิ่มขึ้นมาสองเท่า จากการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้าง คำถามคือว่าเราจะช่วยให้ที่ดินเหล่านี้ มีคุณค่ามีมูลค่าได้มากขึ้นเท่าไหร่? ประเทศ ประชาชน ที่ดิน เป็นตัวรองรับ
ผมคาดหวังว่าประเทศจะมียุทธศาสตร์ ที่มีฐานข้อมูลที่แท้จริงจากระบบกระบวนการจัดการที่ดิน ทำให้สามารถวางแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ ที่ดินได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสิ่งที่ควรจะเป็น ประเทศสามารถกำหนดรูปแบบในการพัฒนา ต่อคำถามเหล่านี้ประเทศไทยเรามีปัญหาอะไร? ประเทศมีปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประเทศมีปัญหาพืชผลเกษตรมีปัญหามากน้อยฤดูกาล และเราก็เรียกร้อง Zoning ซึ่งเราใช้บริบทของธนาคารที่ดิน มาช่วยส่งเสริมตรงนี้ เราจะสามารถตอบโจทย์ Zoning ที่หลายๆประเทศเรียกร้องกันได้ ว่ามันถึงเวลาแล้วหรือยัง และจะทำโซนนิงอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด กับตัวที่เกิดขึ้น
ต่อด้วย ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ได้กล่าวถึงตัวเลข ที่ว่าประเทศไทยมีที่ดิน 320 ล้านไร่ เป็นที่เกษตร 149 ล้านไร่ เกษตรกรเป็นคนที่ถือครองอยู่ 71 ล้านไร่ ส่วน 77 ล้านไร่ เป็นเนื้อที่ของคนอื่น ตัวเลขมันฟ้องว่า 77 ล้านไร่ กลายเป็นเช่าที่ดินผู้อื่น 29 ล้านไร่ และเป็นรองรับขายฝาก(ได้ทำฟรี) อีก 48 ล้านไร่ ก็แสดงว่าความมั่นคงของเกษตรกรค่อนข้างมีปัญหา เพราะว่าที่ดินส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในมือคนที่ทำเกษตร
ปัญหาคืออะไร? ที่ดินนี้เป็นชีวิตของคนที่ทำเกษตร เค้าจะพ้นความยากจนได้ ถ้าเกษตรกรมีที่ดินเป็นของตัวเอง ลงทุนลงแรงในที่ดินของตนเอง และก็พัฒนาที่ดินให้เหมาะสมกับการทำการเกษตร แทนที่จะอยู่อย่างไม่แน่นอนไปวันๆ เช่น ปีหน้าก็ไม่รู้ว่าจะได้เ่ช่าที่ดินหรือเปล่า? มีคนมาเสนอค่าเช่าที่สูงกว่า เจ้าของที่ดินก็ให้เกษตรกรออกไป
ถามว่าแล้วหน่วยงานของรัฐ ช่วยเกษตรกรหรือไม่? อาจารย์อิทธิพล กล่าวว่า ทุกวันนี้ช่วยเกษตรกรเต็มไปหมดเลย ดูกฎหมายหลายฉบับ ประมวลกฎหมายที่ดิน(จัดที่ดิน โดนมติครม.หยุดไว้) พ.ร.บ.จัดที่ดิน ก็จัดที่ดินท้องที่ เรามีนิคมสหกรณ์ กับนิคมสร้างตนเอง แต่ถามว่าเกษตรกรได้ประโยชน์แค่ไหน เราก็มีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า ที่ดินเหล่านี้เปลี่ยนสภาพไปหมดแล้ว เป็นคนรวยที่ถือครองแทนเกษตรกร เหล่าอะไรบ้าง ส.ป.ก. ซึ่งดีหน่อยตรงที่ ห้ามโอนให้กันได้ ฉะนั้นก็ยังคงที่ดินไว้เป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าในความเป็นจริงที่ดินเหล่านั้นก็ถูกขายอย่างไม่เป็นทางการ เราก็รู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่ง ส.ป.ก.ก็พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ อีกส่วนหนึ่งถึงไม่มีการจัดที่ดิน ก็ถือว่าเป็นการจัดที่ดินกลายๆ คือ พื้นที่ป่า ถามว่าตัวเลขเท่าไหร่? น่าคิดมาก เท่าที่ลองประมวลคือ 10 ล้านครัวเรือน เนื้อที่ไม่น้อย ซึ่งก็ยังแก้ไขไม่ได้ ซึ่งกำลังคิดกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร? ซึ่งก็อยู่ในช่วงเจรจากับกรมป่าไม้และอุทยาน มีกฎหมาย 2-3 ฉบับ ที่จะปลดล๊อคตรงนี้ ที่จะทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าได้
ที่ยกขึ้นมาข้างต้น เป็นปรากฎการณ์ ที่มีในปัจจุบัน ถามว่าแล้วธนาคารที่ดินอยู่ตรงไหน? ก็เป็นคำตอบอยู่ที่ว่าหน่วยงานทุกหน่วยที่ทำงานอยู่ตอนนี้ ทำงานในที่ดินของรัฐ คือ ทำงานเอาที่ดินของรัฐมาจัด เอาที่ดินของรัฐมากระจาย จัดระเบียบ ให้กับประชาชนอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ในที่เอกชนละ ปัญหาเยอะกว่าที่ดินรัฐเยอะ ตั้งแต่หลังวิกฤติปี 2540 อาจารย์อิทธิพล ได้ทำวิจัย และได้พบว่าจริงๆแล้วปัญหาของที่ดินเป็นสาเหตุของการล่มสลายในทางเศรษฐกิจในปี 2540 เพราะมีการเก็งกำไรสูงมาก งานศึกษาชิ้นนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รัฐบาลประชุมมีมติครม.เสนอให้แก้ไขโดยเร่งด่วน แต่ว่าทุกอย่างพอพ้นรัฐบาลหนึ่งไป ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิมและไม่มีใครอยากแก้ไข จากปี 2540 เราพบว่ากลไกในเรื่องของที่ดินยังไม่ครบ เลยคิดว่ามีกลไกอะไรบางอย่างมากระจายการถือครองที่ดินในที่ดินของเอกชน มีธนาคารที่ดินขึ้นมาจะเหมาะหรือไม่? ในการมาดูแลในเรื่องของที่ดินเอกชน ไม่ใช่เพียงแค่ในที่ใดที่หนึ่ง แต่คือทุกที่ที่มีการกระจุกตัวหรือทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ การมีธนาคารที่ดินจะเป็นตัวเชื่อมช่องว่างต่างๆที่มีในกฎหมายหลายฉบับที่ออกแบบเอาไว้ ถ้าเป็นไปได้ธนาคารที่ดินก็จะมาดูแลในเรื่องของที่ดินทิ้งร้างหาทางที่จะเอามาใช้ประโยชน์โดยการเป็นตัวกลาง และช่วยคนที่ที่ดินกำลังจะหลุดมือ หรือที่ดินที่อยากจะให้เกษตรกรทำกินแต่เกษตรกรยังไม่มีแรงพอจะทำ ส่วนการพัฒนาจะเป็นเรื่องที่ตามมาที่หลัง ซึ่งอันนี้ต้องช่วยกันคิด ซึ่งต้องมีกลไกอื่นด้วยเพราะเห็นช่องว่างที่จะเกิดขึ้น เช่น แนวเขตที่ดิน ที่จะต้องเติมเต็มตรงนี้ เพราะถ้าแยกที่ดินของรัฐและเอกชนได้ชัดเจน เราก็สามารถเอาที่ดินของรัฐมาดูแลและก็จัดให้เอกชนดูแลในส่วนที่เค้ามีสิทธ์ิได้มั่นคง ไม่ใช่ว่ามีโฉนดแล้ววันหนึ่งจะถูกเพิกถอนหรือไม่? เพราะวันหนึ่งที่มีคนมาออกโฉนดในที่ป่า เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่คิดว่า ธนาคารที่ดินจะมีบทบาท และกลไก ตรงนี้ที่สำคัญ ส่วนรายละเอียเป็นเรื่องที่เราพยายามผลัดดันกฎหมาย
ต่อด้วย นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้กล่าวถึง ธนาคารที่ดินถ้าทำได้ตามหลักการก็เป็นไปได้ที่จะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งปัญหาที่ดินมีข้อพิพาทยืดเยื้อยาวยานมาในสังคมไทย เพราะว่าถ้าเราสามารถใช้ธนาคารที่ดินเป็นกลไกในการกระจายการถือครองที่ดินเอกชน ซึ่งกระจุกตัวรวมศูนย์ที่ดินในผู้ถือครองรายใหญ่ๆ และที่สำคัญที่ต้องเป็นยุทธศาสตร์เป้าหมายของธนาคารที่ดิน เป้าหมายแรกเลย คือที่ดินที่ทิ้งร้าง ที่ดินที่ซื้อมาเก็งกำไร มีการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศชาตินับแสนล้านต่อปี ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินและเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไป แต่ถ้านำที่ดินเหล่านั้นมาใช้ โดยธนาคารที่ดินเป็นตัวกลาง ที่จะนำที่ดินเหล่านั้นมากระจายผ่านระบบการเช่าซื้อ ที่ดินก็เกิดการกระจายมาที่เกษตรกรได้
คุณสุรพล ขอตั้งข้อสังเกตว่า อย่าไปควบคุม บางที่ภาครัฐมองว่า เกษตรกร 5 ไร่ ก็พอ 3 ไร่ ก็พอแล้ว คือ ไม่ได้จัดให้ฟรี คือที่ดินที่ เกษตรกรต้องไปเช่าซื้อจากธนาคาร ดังนั้นถ้าเค้ามีความสามารถเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะกำหนดเพดาน แต่มองว่า 3-5 ไร่ มันน้อยไป เป็นการไปควบคุมการเติบโตทางเศรษฐกิจของคนที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจในสังคมของประเทศ มันก็ไม่มีทางที่เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้ เช่นที่เคยเกิดขึ้น คือ ที่นโยบายของ คทช. ณ วันนี้ ที่จัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ให้กับประชาชน 5 ไร่ ไว้ทำกิน และ 1 ไร่ ที่อยู่อาศัย รวม 6 ไร่ นั้น ซึ่งหนึ่งครอบครัวมีสมาชิกปกติ 4 คน คนหนึ่งถือครองที่ดินเพียงแค่ 1 ไร่ กว่าๆ คนเหล่านั้นจะมีชีวิตมั่นคงอยู่ได้อย่างไร? จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร ซึ่งมองว่าเป็นไปไม่ได้ และอัตราการถือครองแบบนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลย ตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรศึกษา และตอบคำถามมาที่ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีเกษตร ปัจจุบัน อยู่ที่ 16 ไร่เศษ ต่อครอบครัว จึงจะพ้นเส้นความยากจน ซึ่งตัวเลขนี้แค่พ้นเส้นความยากจนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ร่ำรวยนะ แค่ก้าวพ้นเส้นความยากจนขึ้นไป
เพราะถ้าธนาคารที่ดินเห็นดีเห็นงามกับ ส.ป.ก.ด้วยที่ 5 ไร่ ในการจำกัดการครองที่ดิน ตามที่หน่วยงานรัฐกำลังทำตาม คทช. อาจทำให้กลไกธนาคารที่ดินผิดรูปแบบไป ธนาคารที่ดินต้องออกมาจากกรอบนั้นให้ได้ เพราะหากเกษตรกรมีกำลังเช่าซื้อ 10-20 ไร่ ก็น่าจะปล่อยให้ทำได้ เพราะมีกำลังการผลิต ซึ่งเหล่านี้ได้จะให้เศรษฐกิจภาพใหญ่ไปได้ดี จำเป็นต้องกระจายการถือครองที่ดินลงไปที่เกษตรกร
ต่อด้วย นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการที่ดิน ได้กล่าวถึง ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพการแก้ไขปัญหาต่างๆที่รัฐบาลแต่ละชุดทำมามันไม่ได้ผล คือความจริงมีผู้ซึ่งไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย มีคนที่ดินทำกิน และก็ยังมีผู้จะสูญเสียนสิทธิในที่ดินของตนเอง แทบจะน้อยเพราะถูกยึดหมดแล้ว เหล่านี้สิ่งที่ตามมา คือ ผู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพราะมีที่ดินเยอะและเก็งกำไร เหล่านี้ได้สร้างปัญหาต่างๆ เพราะว่าแต่ก่อนเมื่อ 50 ปี ที่แล้ว คนเพียงแค่ 20 ล้านคน แต่ปัจจุบันเกือบ 70 ล้านแล้ว อะไรก็ต้องเปลี่ยนแปลง แต่เรายังใช้กฎหมายแบบเก่าตลอด ดำรงไว้ซึ่งกฎหมายเก่า อนุรักษ์นิยมสุดยอด
เรามองว่าเศรษฐกิจว่าปัจจุบันในปัจจุบันถ้ามองจากปริมาณการเสียภาษีโดยตรง ที่เก็บจากคนไทย เก็บได้เพียง 20% เอง นอกนั้นประมาณ 70% ไม่ได้เสีย คือ แสดงว่าเศรษฐกิจของคนเหล่านี้ได้รับยกเว้นภาษี ไม่ใช่ดีนะในทางความเป็นจริง เพราะไม่มีเงินรายได้ เพียงพอตามเกณฑ์ คน 20 % เลี้ยงคน 70% ก็คนรวยเลี้ยงคนจน มันแปลกในสังคมไทย ถ้าเราปล่อยแบบนี้ไป อีกหน่อยในอนาคตก็จะเหลือคนรวยเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ที่เลี้ยงคนจน แล้วสังคมและเศรษฐกิจมันจะอยู่ได้จริงๆหรือ? เรามองภาพด้านสังคมเช่นเดียวกัน วันนี้คนจนกับคนรวยอยู่ด้วยกัน แต่ถามว่าแล้วถ้ามีคนรวยควบคุมทุกอย่างอยู่ คนจนซึ่งเป็นฐานใหญ่ในสังคม ซึ่งเป็นคนเหมือนกันจะอยู่อย่างไร? คนจนก็ต้องลุกขึ้นมาและเกิดปัญหาแน่นอนในอนาคต ถ้าหากยังเป็นอย่างในปัจจุบันนี้
เราเรียกร้องธนาคารที่ดินมาเกือบ 30 ปี แต่รัฐไม่เห็นผล เพราะหน่วยงานที่ทำเรื่องที่ดินบางชุดก็ทำ บางชุดก็ไม่ทำ แล้วแต่นโยบายของรัฐบาลที่คิดจะทำ แต่เรื่องของผู้ไร้ซึ่งที่ดินทำกิน เรื่องของผู้จะเสียสิทธิในที่ดิน ม้นไม่ใช่เรื่องของนโยบาย มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ ยังไงก็ต้องทำทุกรัฐบาล ดังนั้นผมก็แปลกใจว่าทำไมหน่วยงานในประเทศไทย จึงไม่มีหน่วยงานที่แก้ไขปัญหานี้โดยตรง โดยถือว่าเป็นหน้าที่ประจำไม่ใช่นโยบาย ดังนั้นการตั้งธนาคารที่ดินขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้
หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นธนาคาร ผมบอกว่าแหล่งทุน รัฐบาลไม่เคยให้แหล่งทุน รัฐบาลมีแต่เอาเงินไปจ่าย เฉพาะฉุกเฉิน แก้ปัญหาแบบคันที่ไหนเกาที่นั่น แต่ปัญหาปัจจุบันมันคันทุกที่ แล้วจะทำอย่างไร? ถ้าปล่อยปะละเลยเป็นอย่างนี้ จะเกิดปัญหาสังคมแน่นอน และปัญหาเศรษฐกิจจะตามมา เพราะมีแต่คนรวยจายภาษี คนจนไม่มีภาษีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากว่ากลับกันคนทั้งประเทศเสียภาษี 70% ก็แสดงว่าฐานรากมีรายได้ ทำให้มั่นคงแน่นอน สังคมก็ดีขึ้น ดังนั้นการมีธนาคารที่ดินมา ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะกิจ แต่เป็นการแก้ปัญหาเป็นแหล่งทุนเพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสวิ่งเข้ามาหาได้ มาเอาสินเชื่อไม่ได้ แล้วทำไมต้องเป็นธนาคาร เพราะมันคล่องตัว มันยืนอยู่ได้โดยที่รัฐบาลไม่มีนโยบายก็เดินได้ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลไหนมาเป็นรัฐบาลในอนาคต ถ้าตั้งขึ้นมาแล้วธนาคารก็จะเติบโตขึ้นมาเล็กๆน้อยๆ ท้ายที่สุดเงินทุนหมุนเวียนต่างๆที่มี มันจะแก้ไขปัญหาระบบของประเทศไทย ได้
มีการวิจัยเกี่ยวกับธนาคารที่ดินว่าจะเกิดความคุ้มค่ามั้ย เราคำนวนว่า ถ้าเราใช้เงิน 5 ปี แรก 1 หมื่นล้านบาท และปีที่ 5-20 อีก 2 พันล้าน รวมแล้วคำนวณ ประมาณ 4 หมื่นล้าน เงินพวกนี้จะแก้ปัญหาคนไร้ที่ดินทำกินและสูญเสียที่ดินทำกินประมาณ 3 แสนครอบครัว ซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน และในอนาคต และธนาคารที่ดินสามารถทำให้ทุกอย่างดีขึ้นและเอาไปช่วยคนจนเรื่องอื่นได้ ไม่ใช่เกษตรกรรมอย่างเดียว
ตอนนี้กฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน อยู่ที่กระทรวงการคลัง มี 2 ฉบับ ของ บจธ.กับฉบับของกระทรวงการคลัง ตอนแรกต่างคนต่างเดิน แต่ตอนนี้ปรับมาเป็นฉบับเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพ
ต่อด้วยตัวแทนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชาวบ้านที่เกี่ยวข้องร่วมกันแลกเปลี่ยน ถกเถียงถึงรูปแบบ แนวทาง และข้อเสนอแนะต่อ บจธ. เพื่อนำไปพิจารณา ปรับปรุง ตามแนวทางต่อไป
ที่มา Thai watch land 27 กันยายน 2560