ผลวิจัยเผย เกษตรกรไทยเกินครึ่ง มีแนวโน้มเป็น "หนี้ข้ามรุ่น"

Created
วันจันทร์, 12 มิถุนายน 2566
Created by
TNN Online
Categories
บทความ
 

FarmerDebtTNN

"สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ เผยเกษตรกรไทยเกินครึ่งเป็น "หนี้ข้ามรุ่น" ไม่สามารถปิดหนี้จบได้ก่อนเลิกทำงาน ต้องส่งต่อหนี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน"

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยดร. โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และ ดร. ลัทธพร รัตนวรารักษ์ เปิดเผยผลการศึกษา 'หนี้ข้ามรุ่น' ของเกษตรกรไทย จะมีเยอะแค่ไหนหากยังไม่มีแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง? โดยระบุว่า การศึกษานี้ใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาจากเครดิตบูโรกว่า 5 ปีของเกษตรกรกว่า 3.5 ล้านคนทั่วประเทศที่มีสินเชื่อที่เป็น term loan ซึ่งมีข้อมูลมากพอที่จะเข้าใจพฤติกรรมการชำระหนี้ได้ (คิดเป็นร้อยละ 87 ของเกษตรกรที่กู้ในระบบทั้งหมด) 

โดยจากพฤติกรรมการชำระหนี้ตลอด 5 ปีของกลุ่มนี้แสดงให้เห็นว่า มีร้อยละ 28 ที่สามารถจ่ายตัดต้นได้บ้าง แต่กว่าร้อยละ 56 กำลังพยุงปัญหาหนี้โดยการชำระหนี้คืนเพียงเล็กน้อยตลอดมา และร้อยละ 16 ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย 

ดังนั้น หากมองให้ลึก ปัญหาหนี้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรังที่มีแนวโน้มปิดจบได้ยาก (หรือที่ในต่างประเทศเรียกว่า persistent debt) 

นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า เกษตรกรเกินครึ่งมีแนวโน้มต้องส่งต่อหนี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน หากยังคงไม่มีแนวทางแก้ไขที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเมื่อนำ (1) อายุปัจจุบันของเกษตรกร (2) ปริมาณหนี้ในปัจจุบัน และ (3) พฤติกรรมการชำระหนี้เฉลี่ยตลอด 5 ปีของเกษตรกรแต่ละราย มาประมาณการอายุที่เกษตรกรจะสามารถปลดหนี้ได้ ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า เกษตรกรจะยังชำระหนี้ตามพฤติกรรมในอดีต 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 67 จะไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ก่อนเลิกทำงานที่อายุ 70 ปี และร้อยละ 56 น่าจะไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ก่อนอายุ 80 ปี

ผลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์หนี้และพฤติกรรมการชำระหนี้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ในปัจจุบันกำลังมีปัญหา ซึ่งน่าจะมาจากทั้งปัญหาความสามารถในการจ่ายหนี้ ( ability to pay) เนื่องจากโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันเกินศักยภาพในการชำระไปตัดต้นเงินได้ และปัญหาด้านวินัยและแรงจูงใจในการชำระหนี้ 

ดังนั้น หลักการในการแก้หนี้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ควรจะต้องเริ่มจากการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกับศักยภาพ และการสร้างกลไกกระตุ้นการชำระหนี้ เพื่อสร้างวินัยและจูงใจให้เกษตรกรสามารถชำระหนี้ให้ได้ตามวิถีของรายได้ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมาก และต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมศักยภาพ สร้างรายได้ และภูมิคุ้มกันทางการเงินเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระและลดการพึ่งพิงสินเชื่อในอนาคต

ที่มา : TNN Online วันที่ 12 มิ.ย. 2566