กรุ่น แย้มหลง และ ‘เป็ดไล่ทุ่ง’ จากฟาร์มตัวอย่างของกระทรวงเกษตรฯ สู่หายนะใหญ่ในชีวิต

Created
วันพุธ, 11 มกราคม 2566
Created by
เพ็ญนภา หงษ์ทอง
Categories
บทความ
 

FieldDuck

“ฉันโดนกรมส่งเสริมสหกรณ์ฟ้อง เขาจะยึดที่นาอยู่แล้ว ไม่รู้จะทำยังไง ฉันไม่ได้กู้เขาหรอก เงินเขาฉันไม่ได้ใช้สักบาท แต่ฉันเป็นกรรมการสหกรณ์ เขาก็บอกว่าต้องรับผิดชอบ” 

กรุ่น แย้มหลง เกษตรกรแห่งตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เล่าให้ผู้เขียน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยของมูลนิธิชีวิตไทที่กำลังลงเก็บข้อมูลเกษตรกรเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีจากภาระหนี้สินในพื้นที่ตำบลบางขุดฟัง 

เรื่องราวที่พรั่งพรูจากปากน้ากรุ่นทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า โครงการสนับสนุนเกษตรกรของรัฐ หากได้รับการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอ และไม่ได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ อาจกลายเป็นต้นเหตุวงจรหนี้ของเกษตรกรได้ 

เช่นเดียวกับหนี้มหาศาลที่น้ากรุ่นแบกอยู่ในวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองจากเกษตรกรเลี้ยง ‘เป็ดไล่ทุ่ง’ มาเป็นการทำฟาร์มระบบปิด และการรวมกลุ่มกับเกษตรกรเลี้ยงเป็ดด้วยกันเป็นสหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงเป็ด ตามคำแนะนำของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกเมื่อ 17 ปีที่แล้ว 

นอกจากการทำฟาร์มเป็ดระบบปิดจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว น้ากรุ่นยังต้องตกเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ที่มีหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นโจทก์ด้วย 

เรื่องราวของน้ากรุ่น คือภาพสะท้อนชะตากรรมของเกษตรกรที่ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น

ย้อนกลับไปก่อนปี 2548 กรุ่น แย้มหลง เกษตรกรแห่งตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท สร้างฐานะด้วยการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง มีเป็ดฝูงใหญ่ฝูงหนึ่ง น้ากรุ่นเอาขึ้นรถ 6 ล้อ ไปปล่อยให้หากินเองตามที่ท้องทุ่งท้องนา แหล่งน้ำต่างๆ  น้ากรุ่นและครอบครัวอพยพเร่รอนไปตามเส้นทางของเป็ด โดยปกติจะมีระบบของเกษตรกรด้วยกันคอยส่งข่าวว่าพื้นที่ไหนอยากให้เอาเป็ดไล่ทุ่งไปลง น้ากรุ่นบอกว่า ชาวนาชอบให้เป็ดไล่ทุ่งไปลงแปลงนาตัวเอง เพราะเป็ดกินหอยเชอรี่ ศัตรูตัวฉกาจของนาข้าว และขี้เป็ดยังเป็นปุ๋ยชั้นดี เป็ดไล่ทุ่งจึงเป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่มีแต่ผลกระทบทางบวก แทบไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ 

จากชัยนาท บางทีน้ากรุ่นพาเป็ดไปหากินถึงทางอีสาน ที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่เป็นเดือนๆ แม้จะมีต้นทุนค่าน้ำมันเดินทางขนส่งเป็ด และค่าอาหารตัวเอง แต่ประหยัดค่าอาหารเป็ดได้มหาศาล และสามารถขายไข่เป็ดได้ราคาดี เนื่องจากไข่เป็ดไล่ทุ่งจะใบใหญ่กว่าไข่เป็ดที่เลี้ยงในระบบปิด 

นอกจากครอบครัวไม่มีหนี้แล้ว ยังสามารถซื้อที่ดินเพิ่ม มีรถ 6 ล้อเป็นของตัวเองสำหรับขนเป็ดข้ามจังหวัด มีปิกอัพไว้ใช้ในครอบครัว และปลูกบ้านหลังใหญ่ได้ หากไม่นับหนี้ ธ.ก.ส. ที่รับมรดกมาจากพ่อที่เสียชีวิตไปในปี 2540 น้ากรุ่นก็เป็นเกษตรกรที่ไม่มีหนี้เลย  

จากฟาร์มตัวอย่างของกระทรวงเกษตรฯ สู่หายนะใหญ่ในชีวิต

ชีวิตเกษตรกรเป็ดไล่ทุ่งของน้ากรุ่น เดินหน้าไปด้วยดีมาตลอด จนปี 2548 ไข้หวัดนกระบาดไปทั่ว เป็ดไล่ทุ่งถูกมองเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศมาตรการควบคุมโรค ห้ามไม่ให้เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ สนับสนุนให้เกษตรกรทำฟาร์มเป็ดระบบปิด และกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ด โดยมีคำแนะนำให้และส่งพี่เลี้ยงจากกรมมาช่วยดูแล  

น้ากรุ่นตัดสินใจกู้เงินจากธนาคาร  SME มา 1.3 ล้านบาท โดยนำโฉนดที่ดินไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อลงทุนทำฟาร์มระบบปิดบนที่ดินตัวเอง ทำทุกอย่างตามที่กระทรวงเกษตรฯ แนะนำโดยใช้เงินที่กู้มา 

ฟาร์มเป็ดของ กรุ่น แย้มหลง กลายเป็นฟาร์มตัวอย่างที่กระทรวงเกษตรฯ ติดต่อให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกมาเยี่ยมชม ในฐานะตัวอย่างผลงานการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกของประเทศไทย จนได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก 

จากคำบอกเล่าของน้ากรุ่น หลังจากองค์การอนามัยโลกกลับไป ตัวน้ากรุ่นซึ่งไม่มีประสบการณ์การทำฟาร์มเป็ดระบบปิด ต้องเดินหน้าต่อไปคนเดียว ทั้งดูแลเป็ดเก่าที่ค้างมาจากการทำเป็ดไล่ทุ่ง และดูแลเป็ดใหม่ที่ซื้อมาเพื่อเลี้ยงในระบบปิด 

“ฉันก็ไม่รู้อะไรหรอก เขาให้ทำอะไรก็ทำตามเขา ด้วยเงินตัวเองทั้งหมด แล้วเขาก็ติดต่อให้ฝรั่งจากองค์การอนามัยโลกมาดู เขาว่าฉันทำฟาร์มได้ดีเป็นตัวอย่าง แต่พอหลังจากฝรั่งไป ก็ไม่มีใครมาสนใจฉันอีก มีภาพใบนี้ให้ฉันใบเดียว เขาทำมาให้ บอกว่าเป็นที่ระลึก” 

น้ากรุ่นบอกเล่าประสบการณ์ พลางอวดภาพถ่ายเก่าสมัยที่ผู้แทนองค์การอนามัยโลกมาเยี่ยมชมฟาร์มของแกให้ดู 


ภาพเมื่อครั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พาผู้แทนองค์การอนามัยโลกเยี่ยมชมฟาร์มของ กรุ่น แย้มหลง (เสื้อส้มตรงกลาง) 

แม้เป็ดในฟาร์มจะออกไข่มาให้บ้าง แต่ก็ใบเล็ก ขายไม่ได้ราคา เพราะช่วงนั้นมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งยังคงลักลอบเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ทำให้มีไข่เป็ดขนาดใหญ่ออกมายึดตลาดได้ 

ตลอดระยะเวลา 1 ปี น้ากรุ่นพยายามดิ้นรนเพื่อให้ฟาร์มเป็ดไปรอด ทางเดียวที่จะดิ้นรนได้คือการกู้เงิน ทั้งการกู้เพิ่มโดยใช้หลักทรัพย์ที่ดินเดิม ทำให้ต้องจ่ายหนี้เดือนละ 30,000 แต่สุดท้ายฟาร์มระบบปิดก็ไปไม่รอด ปลายปี 2549 น้ากรุ่นตัดสินใจขายเป็ดทั้งหมดให้โรงเชือดไปในราคาถูก การเป็นเกษตรกรที่ดีเดินตามนโยบายรัฐจบลงในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกับหนี้สินก้อนมโหฬาร 

ฟาร์มตัวอย่างวันนี้เหลือเพียงโรงเรือนร้างกับหนี้ธนาคารที่ตัดสินใจกู้ ธ.ก.ส. 3.3 ล้านบาท มาปิดบัญชีธนาคาร SME เพราะไม่สามารถรับภาระการผ่อนชำระรายเดือนได้ โฉนดที่ดินที่ต้องย้ายจาก SME มาไว้กับ ธ.ก.ส. ยังคงอยู่กับ ธ.ก.ส. จนถึงวันนี้ เงินกู้ทั้งก้อนเก่าก้อนใหม่ ทั้งดอกเบี้ยจากการค้างจ่ายถึงปี 2565 อยู่ที่เกือบ 6 ล้านบาท ไม่นับหนี้จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้รายอื่นที่ต้องกู้มากินใช้ในชีวิตประจำวันและลงทุนอื่นๆ 

ฟาร์มเป็ดระบบปิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยนำเสนอเป็นผลงานการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกให้กับผู้แทนองค์การอนามัยโลก วันนี้ถูกทิ้งร้าง

รวมกลุ่มสหกรณ์ หายนะรอบที่ 2     

ในเอกสารด่วนที่สุดจากกรมปศุสัตว์ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ในวันที่ 27 ธันวาคม 2548 ลงนามโดย ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ในขณะนั้น ระบุว่าให้ปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับสหกรณ์จังหวัด เร่งประชุมชี้แจงเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเพื่อให้จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดเฉพาะเป็ดไล่ทุ่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 โดยให้ปศุสัตว์จังหวัดและสหกรณ์จังหวัดร่วมกันประชาสัมพันธ์แหล่งสินเชื่อในการปรับระบบการเลี้ยง คือ ธ.ก.ส. และแหล่งสินเชื่อสำหรับกลุ่มสหกรณ์ คือกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งดูแลโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ 

ตามคำบอกเล่าของน้ากรุ่น การรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ที่สนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงเป็ดในจังหวัดชัยนาทรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท โดยชวนน้ากรุ่นและคนอื่นๆ ที่อยู่ต่างอำเภอ ซึ่งหลายคนไม่รู้จักกัน เข้ามารวมกลุ่มกัน ตั้งกรรมการสหกรณ์ขึ้นมา 1 ชุด 

น้ากรุ่นเป็นหนึ่งในนั้น ทำหน้าที่เหรัญญิก โดยผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ให้แก่สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท เพื่อนำไปจัดซื้ออาหารเป็ดมาให้สหกรณ์ขายต่อสมาชิกในราคาถูก และให้สมาชิกกู้สัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จำนวน 1 ล้านบาท ที่มีสหกรณ์จังหวัดชัยนาท ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงนามในฐานะผู้ให้กู้ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด โดยมีเกษตรกรที่เป็นประธานกรรมการสหกรณ์ และ กรุ่น แย้มหลง เหรัญญิก ร่วมกันลงนามในฐานะผู้กู้ ถูกทำขึ้นในวันที่  22 มิถุนายน 2549 

แต่แล้วผลประกอบการของสหกรณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิด น้ากรุ่นบอกว่าปัจจัยสำคัญเพราะตัวเกษตรกรที่เข้ามารวมกลุ่มเองไม่เข้าใจและไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานสหกรณ์ เมื่อกรรมการสหกรณ์นำเงินที่กู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์มาปล่อยให้สมาชิกกู้ต่อเพื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ด ไม่มีสมาชิกคนใดประสบความสำเร็จในกิจกรรมเลี้ยงเป็ด เพราะส่วนใหญ่ทำการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งกันมาก่อน ไม่มีประสบการณ์ในการทำฟาร์มเป็ด สุดท้ายไม่มีใครชำระเงินกู้ กิจการของสหกรณ์ก็ต้องยุติลง และสหกรณ์ไม่มีเงินชำระคืนกองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้ 

น้ากรุ่น บอกว่า กรรมการสหกรณ์ ณ ตอนนั้น ไม่มีความรู้ว่าควรต้องทำอย่างไร การไม่ชำระหนี้ของเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจึงไม่ถูกดำเนินการใดๆ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด ไม่ได้มีการชำระเงินกู้คืนกองทุนพัฒนาสหกรณ์เลย จนเดือนตุลาคม 2552 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ยื่นฟ้องสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท จำกัด กับพวกรวม 16 คน เพื่อให้ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย 

เดือนธันวาคม 2552 ศาลมีคำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยที่ 1 ถึง 16 (จำเลยที่ 1 คือสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท จำกัด และจำเลยที่ 2-16 คือ กรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ด ชัยนาท โดยน้ากรุ่นตกเป็นจำเลยที่ 4) ตกลงยอมชำระหนี้เงินจำนวนประมาณ 1.15 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยชำระงวดแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แต่จำเลยทั้ง 16 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และวันที่ 11 เมษายน 2556 ศาลมีคำสั่งบังคับคดีจำเลยทั้ง 16 ส่วนการที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจะไปทวงเงินคืนจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่กู้เงินไป เพื่อนำมาชำระหนี้ในส่วนนี้ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะคดีหมดอายุความไปแล้ว

ในบรรดาจำเลยทั้ง 16 คนนั้น มีเพียง 8 คนที่มีทรัพย์ให้ยึด รวมถึงน้ากรุ่น เพื่อนำเข้าสู่ระบวนการบังคับคดี

“เป็นหนี้ที่ฉันเองไม่ได้กู้มาใช้เลยสักบาท แต่ก็ต้องมารับภาระตรงนี้” น้ากรุ่น กล่าว

ตลอดเวลาที่ผ่านมา น้ากรุ่นและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดที่ตกเป็นจำเลยพยายามต่อรองกับกรมส่งเสริมสหกรณ์มาตลอด ความคืบหน้าล่าสุดเฉพาะในส่วนความรับผิดชอบของน้ากรุ่นคือต้องชำระหนี้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 130,000 บาทภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2565  เพื่อรักษาที่ดินจำนวน 20 ไร่ ไม่ให้โดนขายทอดตลาด น้ากรุ่นตัดสินใจยืมเงินญาติๆ มาจ่ายให้กรมส่งสริมสหกรณ์ไปแล้ว 

แม้ที่ดินจะไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีขายทอดตลาด แต่ที่ดินผืนนี้ก็ยังถูกกรมส่งเสริมสหกรณ์อายัดไว้จนกว่าจะได้รับเงินจากจำเลยคนอื่นครบตามมูลค่าที่ศาลมีคำพิพากษาไว้ 

เหตุการณ์ที่เกิดกับน้ากรุ่นและกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด ทำให้ผู้เขียนเป็นห่วงชะตากรรมของกรรมการบริหารและสมาชิกสหกรณ์อื่นๆ ที่ตั้งขึ้นในช่วงเดียวกันด้วยเหตุผลเดียวกัน  

ย้อนกลับไปในช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว มีสหกรณ์ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ตามคำแนะนำของปสุสัตว์จังหวัดและสหกรณ์จังหวัดรวมทั้งสิ้น 7 แห่ง 

นอกจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด จังหวัดชัยนาท แล้วยังมีสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดสุพรรณบุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดสุโขทัย สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็นสิงห์บุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดเมือง-วังทอง จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดวัดโบสถ์พรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่า ณ ปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์ใด ได้แต่ตั้งข้อสังเกตเป็นคำถามกับตัวเองว่าเมื่อมีการแนะนำและสนับสนุนให้เกษตรกรตั้งสหกรณ์ได้แล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ย่อมได้ผลงาน แต่เมื่อสหกรณ์ล้มเหลว กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องรับผิดชอบอะไรบ้างหรือไม่ 

กรุ่น แย้มหลง เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ตกอยู่ในวงจรหนี้จากการทำตัวเป็นเกษตรที่ดีของภาครัฐ ทำตามคำแนะนำด้วยความหวังจะเป็นเกษตรกรที่มีชีวิตดีขึ้น แต่ชีวิตกลับเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม  

ปัจจุบัน น้ากรุ่นพยายามหาเงินมาใช้หนี้ด้วยการนำทุนทำรีสอร์ตเล็กๆ บนที่ดินที่ติดจำนองอยู่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดโฆสิตาราม (วัดหลวงพ่อกวย) ควบคู่กับการขายพวงมาลัยหน้าวัด ซึ่งรวมๆ แล้วรายได้เพียงพอแค่ยังชีพ ไม่สามารถชำระหนี้ที่ค้างอยู่ได้ ครั้นอยากกลับไปทำเป็ดไล่ทุ่งที่เชี่ยวชาญ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินทุน 

เมื่อถามว่า หากเลือกได้ ในวันนี้น้ากรุ่นจะเลือกอะไร คำตอบคือ

“เลือกกลับไปวันนั้น แล้วไม่เชื่อกระทรวงเกษตรฯ ถ้าวันนั้นไม่เลิกทำเป็ดไล่ทุ่ง ชีวิตคงไม่เป็นแบบนี้”      

ที่มา : ไทยรัฐพลัส วันที่ 11 ม.ค. 2566

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง